ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอชลน่าน’ หนุน ‘กรมสุขภาพจิต-กรมการแพทย์’ ใช้ศักยภาพของกรมวิชาการ ร่วมกันพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยสุขภาพจิต ผู้ป่วยจิตเวช-ยาเสพติด จ.อุดรธานี เขตสุขภาพที่ 8 เต็มรูปแบบ ทั้งด้านการบริการ การบริหาร วิชาการ และบุคลากร เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนกลับคืนสู่สังคม


วันที่ 10 ม.ค. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ () การให้บริการจิตเวชใน จ.อุดรธานี ระหว่าง นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กับ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัด สธ. เป็นสักขีพยาน  

นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนผู้ป่วยเป็นผู้เสพ” ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 กำหนดให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดและฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงให้ได้รับการดูแลอย่างครบวงจร  

4

ดังนั้นจึงได้กำหนดเป็นประเด็นเร่งด่วน (Quick Win) ที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 100 วัน โดยมีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ใน 76 จังหวัด ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 73 จังหวัด รวม 128 โรงพยาบาล จำนวน 1,837 เตียง และมีการเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และกลุ่มงานจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน ครบทุกแห่ง

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า การลงนามความร่วมมือการให้บริการจิตเวชใน จ.อุดรธานี โดยกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ศักยภาพของกรมวิชาการทั้ง 2 กรม มาร่วมมือพัฒนาทั้งด้านบริการ บริหาร วิชาการ และด้านอื่นๆ ใน จ.อุดรธานี และจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 ให้มีโรงพยาบาลที่รองรับการให้บริการด้านปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้ทุกระดับความรุนแรง 

4

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต จะให้การสนับสนุนบุคลากรด้านจิตเวช ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช และอื่น ๆ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวช ส่วนกรมการแพทย์ จะสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี มาพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการบริการผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างเหมาะสม

“ในเรื่องของการดูแลด้านจิตเวชและยาเสพติด ภารกิจของกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน เมื่อมีความร่วมมือกันในการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยด้านนี้ จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่ติดยาเสพติดได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย” นพ.ชลน่าน กล่าว