ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Sharenting เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2016 ที่มาของคำนี้มาจาก Share (แบ่งปัน) บวกเข้ากับ Parent (พ่อแม่ ผู้ปกครอง) ความหมายคือภาพของลูกๆ เด็กในปกครองที่พ่อแม่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย

Sharenting มาคู่กับโลกโซเชียลมีเดียที่เป็นยุคสมัยใหม่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เมื่อมีลูกน้อยแล้วก็อยากที่จะแชร์ หรือบันทึกเก็บภาพความน่ารักไว้เป็นความทรงจำของครอบครัวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาจดูเหมือนเป็นสิทธิของพ่อแม่ในฐานะผู้ปกครองของเด็ก ที่เลือกเผยแพร่ภาพลูกน้อยออกไปในโลกออนไลน์ แต่อีกด้านก็ถูกมองว่าการกระทำแบบนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเด็กด้วยหรือไม่

ผลศึกษาอเมริกาชี้ เด็กไม่ต้องการมี ‘Digital Footprint’ 

ผลการศึกษาจากนักวิจัยของสหรัฐอเมริกา จากทีมนักวิจัยที่ผสมผสานระหว่างมหาวิทยาลัยไมอามี และมหาวิทยาลัยวอร์ชิงตัน ในประเด็น พ่อแม่ และลูก กับการใช้สื่อเทคโนโลยี สื่อออนไลน์ในครอบครัว แม้ว่างานวิจัยจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2016 หรือประมาณ 8 ปีก่อน แต่ในรายละเอียดมีบางประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากต่อกติกาของครอบครัวที่กำหนดกันเพื่อการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

จากการสำรวจ 249 ครอบครัว โดยการสอบถามเด็กและช่วงวัยรุ่นระหว่างอายุ 10-17 ปี ไปพบว่า เด็กๆ ต้องการให้พ่อแม่แจ้ง บอก หรือแม้แต่ขออนุญาตก่อนที่จะมีการแชร์ หรือโพสต์รูปของตัวเองลงในสื่อออนไลน์

นั่นเพราะเด็กๆ มีความกังวลเกี่ยวกับตัวตนของพวกเขาเมื่อภาพของตัวเองถูกแพร่ในโซเชียลมีเดีย หลักๆ คือการกลัวถูกบูลลี่จากเพื่อน และไม่ต้องการให้ตัวเองเป็นที่พูดถึง

งานวิจัยสำทับไปอีกว่า เด็กที่เกิดในยุคสมัยนี้ หรือในช่วงเต็มไปด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ พวกเขาค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับ Digital Footprint หรือร่องรอยทางดิจิทัล ที่มันจะคงอยู่ไปตลอดกาล ซึ่งเด็กๆ เมื่อโตขึ้นพวกเขาต้องการควบคุมภาพลักษณ์ของตัวเองได้ด้วยตนเอง และไม่ต้องการให้มีรูป คลิปวิดีโอของตัวเองไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยเด็กก็ตามอยู่ในโซเชียลมีเดียมากนัก

อีกงานวิจัยที่ศึกษาโดย มหาวิทยาลัยไวทอทัส แมกนัส (Vytautas Magnus University) ประเทศลิทัวเนีย เมื่อปี ค.ศ. 2021 สะท้อนผลการวิจัยว่า ผู้ปกครองเป็นเจ้าของของบุตรหลานที่อยู่ในการปกครอง แต่พวกเขาไม่ใช่เจ้าของข้อมูลของเด็ก หากแต่มีหน้าที่ปกป้องและดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก หรือบุตรหลาน 

แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดหลงลืมในเรื่องนี้ และมักจะแชร์ข้อมูล ภาพ คลิปวิดีโอที่เข้าใจว่าเป็นความน่ารักของเด็กในโซเชียลมีเดีย และด้วยความหลงลืมก็นำไปสู่การไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเมื่อพวกเขาโตขึ้น

จิตแพทย์ไทยยัน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ ‘สถาบันครอบครัว’ 

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกกับ “The Coverage” ว่า ภาพเด็ก คลิปวิดีโอต่างๆ ที่แชร์ออกไปในโซเชียลมีเดียโดยผู้ปกครอง ผลกระทบจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในครอบครัว เด็กบางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเมื่อโตขึ้น แต่เด็กบางคนอาจซีเรียสได้

ทั้งนี้ พ่อแม่ที่เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย ที่คุ้นชินกับการแชร์รูป คลิปวิดีโอ หรือทำคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ เมื่อมีลูกก็อยากจะเก็บบันทึกเรื่องราวเอาไว้ หรือแชร์ออกไปตามความคุ้นเคย ซึ่งอาจทำให้หลงลืม หรือละเลยความปลอดภัย และอาจละเลยสิทธิของลูกหลาน ซึ่งผลจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าเด็กจะโตพอที่จะตัดสินใจได้เองว่าชอบหรือไม่ชอบพฤติกรรมนั้นของพ่อแม่

อย่างไรก็ตาม ในสังคมปัจจุบัน เด็กยุคใหม่ค่อนข้างห่วงรูปลักษณ์ของตัวเองในโลกออนไลน์ ยิ่งกับรูปในตอนเด็กแล้วมีการขุดคุ้ยขึ้นมาเจอ หรือมีการพูดถึง เด็กวัยรุ่นอาจไม่ชอบใจเท่าไรนัก แต่ทั้งหมดสามารถจัดการได้ด้วยกลไกของครอบครัว

"ผลกระทบที่ว่า ขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ในครอบครัว หากเด็กที่ซีเรียสมองว่าไม่เหมาะสม และอยู่ในครอบครัวที่คุยกันได้ พ่อแม่รับฟัง และยินดีจะลบให้ หรือต่อไปอาจขออนุญาตลูกก่อนโพสต์ก็ได้ แต่ในบางครอบครัวก็คุยกันไม่ได้ พ่อแม่มองว่ารูปลูกน่ารัก แต่ลูกว่าน่าเกลียด ก็ทะเลาะกันเป็นปัญหา ซึ่งแบบนี้มีให้เห็นเยอะ" พญ.วิมลรัตน์ ย้ำ 

สิ่งที่ พญ.วิมลรัตน์ ขมวดปม ทำให้เห็นว่าประเด็น Sharenting อาจจะเป็นอีกเรื่องที่ต้องพูดคุยกันในครอบครัวยุคใหม่

กระนั้นยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจและอาจเป็นต้นทางของปัญหาภายในครอบครัว ที่กระทบต่อสายสัมพันธ์ของพ่อ แม่ ลูก ได้เช่นกัน พญ.วิมลรัตน์ ระบุว่าสิ่งนั้นคือการจัดวางอนาคตให้กับลูกของตนเอง

การจัดวางรูปแบบให้เด็กเติบโตในแบบที่พ่อแม่ต้องการ รวมถึงการขีดเส้นให้ลูกหลานอยู่กับร่องกับรอยนั้น เป็นเรื่องปกติของพ่อแม่ที่หวังดี และเป็นหนึ่งในการเลี้ยงดูที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่อีกด้านด้วยการจัดวางที่มากล้นเกินไป จนกลายไปสู่การบังคับ ก็อาจเป็นปัญหาระยะยาวของเด็กเมื่อโตขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งนั่นยิ่งตอกย้ำว่าปัญหาจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ในครอบครัว

ทั้งนี้ จากตัวเลขของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สะท้อนว่าเกือบ 100% ของเด็ก วัยรุ่น ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและเข้าขอรับคำปรึกษา สาเหตุมาจากปัญหา ‘ความไม่เข้าใจกันในครอบครัว’ มากที่สุด

ทั้งหมดไม่ได้เกิดกับครอบครัวรายได้น้อย หรือฐานะปานกลางเท่านั้น แต่ครอบครัวที่มีฐานะดี ดูภายนอกมีความสมบูรณ์พร้อม ก็เจอปัญหาความไม่เข้าใจภายในครอบครัวด้วยเช่นกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กเป็นจำนวนมาก

สำหรับในยุคปัจจุบัน พญ.วิมลรัตน์ อธิบายว่า พ่อแม่อาจจะต้องพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้นถึงสิ่งที่เขาต้องการ หรือไม่ต้องการ เพื่อที่พ่อแม่จะได้จัดวางอย่างถูกต้อง และตรงกับความต้องการของลูกหลานตนเอง

"อย่างเด็กที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร พ่อแม่ก็เห็นและส่งเสริม ก็ยิ่งทำให้เด็กมีทักษะมากขึ้น แต่กับเด็กที่ยังไม่ชัดเจน หรือไม่รู้ว่าสิ่งที่ต้องการ พ่อแม่อาจเสริมได้ด้วยการพูดคุยและจัดวาง หรือขีดเส้นให้เหมาะสมได้ แต่หากปล่อยเลย ให้คิดเอง ให้อิสระเต็มที่ ไม่ขีดเส้น ก็อาจทำให้เด็กมีปัญหาในอนาคตได้เช่นกัน ดังนั้นเรื่องนี้มันจึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยเหมือนกัน" ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เน้นย้ำ

เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพจิต เด็กไทยมีช่องทางเข้าถึงจิตแพทย์ 

สำหรับช่องทางการเข้าถึงคำปรึกษา พบกับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาของไทยในปัจจุบันนี้ พบว่าเด็ก และเยาวชนมีช่องทางการประเมินสุขภาพจิตของตนเองที่สะดวกมากขึ้น ผ่านระบบออนไลน์และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในระบบบริการสุขภาพ ตั้งแต่การประเมินสุขภาพจิตผ่านเว็บไซต์ การได้เข้าปรึกษากับจิตแพทย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมไปถึงยังมีระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นด้านสุขภาพจิต

เริ่มจากการประเมินสุขภาพจิต เด็กและเยาวชนรวมถึงผู้ใหญ่เองสามารถคลิกเข้าไปเพื่อทำผลทดสอบสุขภาพจิตของตนเองได้ที่ www.วัดใจ.com ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

เว็บไซต์ดังกล่าวจะมีบริการประเมินสุขภาพจิต โดยใช้เครื่องมือ MENTAL HEALTH CHECK IN ที่เป็นการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่จะทำให้ผู้เข้ารับการประเมินทราบผลได้ในทันที

การประเมินจะประกอบไปด้วย SBSD และ RQ เพื่อดูสุขภาพจิต ดังนี้
 S : Stress (เครียด)
 B : Burnout (ภาวะหมดไฟ)
 S : Suicide (เสี่ยงฆ่าตัวตาย)
 D : Depression (ซึมเศร้า)
 RQ : Resilience Quotient (พลังใจ)

เมื่อทำแบบประเมินแล้ว จะทราบผลสุขภาพจิตทันที พร้อมกับมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัว รวมถึงช่องทางเพื่อขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้

อีกช่องทางที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด สำหรับเด็ก และเยาวชน รวมถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ในกลุ่มเป้าหมายอายุ 15-25 ปี มีภูมิลำเนาตามบัตรประชาชนอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถใช้บริการสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชันอูก้า (Ooca) ซึ่งจะได้พูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์ตัวจริงผ่านระบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อีกหนึ่งแอพพลิเคชันอย่าง ‘หมอพร้อม’ ก็มีฟังก์ชั่นปรึกษาให้คำแนะนำปัญหาสุขภาพจิตผ่านระบบ AI หากประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงต่ำก็จะมีคำแนะนำให้ปฏิบัติตัว แต่หากประเมินแล้วมีความเสี่ยงสูง จะมีการขอเบอร์ติดต่อกลับ จากนั้นใน 1 ชั่วโมงจะมีนักจิตวิทยามาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

พญ.วิมลรัตน์ จึงมองว่า การเข้าถึงการประเมินสุขภาพจิตในเบื้องต้นปัจจุบันมีความหลากหลาย และมีช่องทางมากขึ้น

“แต่การแก้ปัญหาสำหรับเด็ก สถาบันครอบครัวจะมีส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะปัญหาเกือบทั้งหมดของเด็กที่เกิดขึ้น มีต้นทางมาจากครอบครัว และเด็กต้องการให้ครอบครัวช่วยแก้ไข กระบวนการของครอบครัวจึงสำคัญมากในการไม่ให้เด็กต้องเจอกับปัญหาสุขภาพจิตที่อาจขยายระดับความรุนแรงมากขึ้น” พญ.วิมลรัตน์ ย้ำ


อ้างอิง:
งานวิจัย Not at the Dinner Table: Parents’ and Children’sPerspectives on Family Technology Rules
https://dl.acm.org/doi/10.1145/2818048.2819940

งานวิจัย Child Right to Privacy and Social Media – Personal Information Oversharing Parents
https://www.proquest.com/openview/3e4e55ad85251b140b835c21d63eec56/1?pq-origsite=gscholar&cbl=2026359