ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ปลัด สธ.” ชี้กรณี “โรงพยาบาลพรเจริญ” เป็นปัญหาชั่วคราว มอบ “สสจ.” แก้ปัญหาเกลี่ยแพทย์ เผย ปีนี้ส่ง “แพทย์ใช้ทุน” ลงภาคอีสานตอนเหนือ 250 คน ด้าน นพ.สสจ.บึงกาฬ ระบุ ประสานยืมแพทย์โรงพยาบาลในจังหวัด-จังหวัดข้างเคียงช่วยราชการแล้ว คาดมีแพทย์ไม่ต่ำว่าวันละ 3 คนให้บริการ 


จากกรณีที่โรงพยาบาลพรเจริญ จ.บึงกาฬ ได้มีการโพสต์ประกาศประชาสัมพันธ์ โดยระบุว่าตั้งแต่วันที่ 27-31 พ.ค. 2567 จะมีแพทย์ประจำเหลือ 1 คน ซึ่งเป็นแพทย์ประจำที่ต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงได้มีการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาในการให้บริการ ประกอบด้วย 1. ประสานแพทย์ช่วยตรวจจากโรงพยาบาลข้างเคียง 2. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ที่มีนัดในช่วงดังกล่าว สามารถนับบริการได้ตามปกติ โดยหากผลตรวจปกติ หรืออาการป่วยคงที่ พยาบาลวิชาชีพจะสั่งยาเดิมให้ (ไม่ต้องพบแพทย์) และจะปรึกษาแพทย์ในรายที่มีผลเลือดผิดปกติ หรืออาการผิดปกติเท่านั้น และ 3. ผู้ป่วยคลอด และอุบัติฉุกเฉินให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยระบุลงท้ายว่าจะมีการให้บริการได้ตามปกติตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 

ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งถึงว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ เป็นปัญหาชั่วคราว ซึ่งวิธีการแก้ไขคือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะเกลี่ยแพทย์ลงไปช่วยตรวจ หากยังจัดการไม่ได้ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจราชการ สธ. อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนเหนือขาดแพทย์มาก ซึ่งปีที่ผ่านมาได้แพทย์จำนวนประมาณ 100 คน ซึ่งในปีนี้ตามนโยบายของรมว.สธ. จะมีการส่งแพทย์ที่เพิ่งจัดสรรเพิ่มอีก 250 คน เชื่อว่าน่าจะไม่มีปัญหา เพียงแต่อาจจะเกิดปัญหาเล็กน้อยในช่วงเปลี่ยนผ่าน 

“การเกลี่ยบุคลากรจะเป็นหน้าที่ของนายแพทย์ สสจ. ส่วนรายละเอียดว่าจะต้องเกลี่ยไปตรงไหน พื้นที่เขาดูแลจะรู้ดีกว่า กระทรวงฯ ก็จะมอบอำนาจให้เขาดูแล” นพ.โอภาส กล่าว

ด้าน นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ (สสจ.บึงกาฬ) กล่าวกับ “The Coverage” ว่า จากประเด็นดังกล่าว ทางชมรมผู้อำนวยการต่างๆ ใน จ.บึงกาฬ ได้มีการช่วยเหลือโดยส่งแพทย์มาช่วยราชการชั่วคราว รวมถึงกำลังประสานยืมแพทย์จากโรงพยาบาลอำเภอ จ.สกลนคร และโรงพยาบาลจังหวัดข้างเคียงด้วย คาดว่าจะมีแพทย์ลงมาวันละไม่ต่ำกว่า 3 คน รวมผู้อำนวยการ ส่วนเรื่องการงดให้บริการนั้นอาจเป็นการสื่อสารคาดเคลื่อน 

อย่างไรก็ดี สำหรับการจัดสรรแพทย์จำนวน 250 คนลงพื้นที่เขตภาคอีสานตอนเหนือนั้น เป็นแพทย์ใช้ทุนที่จะลงมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป ซึ่ง จ.บึงกาฬ จะได้รับจัดสรรแพทย์จำนวนประมาณ 24 คนถือว่ามากกว่าปีก่อนๆ ที่มีเพียงประมาณกว่า 10 คน