ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 28 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เกิดขึ้นและเป็นไปตามกระแสข่าวลือทางการเมืองที่ออกมาก่อนหน้านี้ ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ภายใต้รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ในรายละเอียดพบว่ามีรัฐมนตรีหน้าเก่าถูกปรับออกจากตำแหน่ง 4 คน หนึ่งในนั้นคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่ง รมว.สธ. มาตั้งแต่ช่วงหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ย. 2566 กระทั่งคล้อยหลังมาประมาณ 8 เดือน ในการประกาศล่าสุด นพ.ชลน่าน ก็ได้หลุดจากตำแหน่ง และปรากฏชื่อของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ได้ผลัดเปลี่ยนจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มานั่งบริหารงานในตำแหน่ง รมว.สธ. แทน

สำหรับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ปัจจุบันอายุ 69 ปี มีพื้นเพจาก จ.สุโขทัย เข้าสู่สนามการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกเมื่อปี 2526 ก่อนสร้างชื่อเสียงเป็นนักการเมืองที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในหลายรัฐบาล ทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รมช.คมนาคม) ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลของบรรหาร ศิลปะอาชา

หลังจากเป็น ‘รมช.’ อยู่ 2 ครั้ง นายสมศักดิ์ก็ได้เป็น ‘รมว.’ เมื่อเข้ามาอยู่ในสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยได้ดำรงตำแหน่ง รมว. ในกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนขยับมาเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาจนถึงกระทรวงแรงงาน และยังมีอีกหลายรัฐบาลที่นายสมศักดิ์ ขยับเป็นถึง ‘รองนายกรัฐมนตรี’ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากว่ากันเฉพาะงานของ ‘กระทรวงสาธารณสุข’ นายสมศักดิ์เองเคยมีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว เริ่มจากครั้งแรกในปี 2535 ที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมช.สธ. ในรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2535 แต่ เมื่อถึงวันที่ 10 มิ.ย. 2535 หรือนั่งเก้าอี้ได้เพียง 54 วัน นายสมศักดิ์ก็ลงจากตำแหน่ง ด้วยช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง

ต่อมาในปี 2540 นายสมศักดิ์ก็ได้กลับเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุขอีก ซึ่งครั้งนี้มาในฐานะของ รมว.สธ. ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2540 หากแต่ก็นั่งอยู่ในเก้าอี้เพียง 15 วันเท่านั้น เมื่อ พล.อ.ชวลิต ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 6 พ.ย. 2540 ซึ่งส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสภาพ

อย่างไรก็ตาม มาถึงล่าสุดในรัฐบาลนี้ที่ นายสมศักดิ์ ได้กลับเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เจ้าตัวได้แสดงผลงานด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยได้อยู่ในตำแหน่งเพียงไม่นาน

แต่ถึงอย่างไรก่อนหน้าที่จะมีการประกาศปรับ ครม. ของนายเศรษฐา ครั้งนี้ ในภาคสาธารณสุขเองก็ได้เห็นชื่อของนายสมศักดิ์ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในกลไกการทำงานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ นายสมศักดิ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยกำกับดูแลงานกระทรวงสาธารณสุขแทน

นั่นยังรวมถึงการเป็นคณะกรรมการด้านสาธารณสุขและการแพทย์ชุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ, คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ, คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์, คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด, คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ, คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ, คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ, คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

บทบาทของนายสมศักดิ์ภายใต้คณะกรรมการชุดต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาหนุนสมุนไพรไทยให้เติบโตในตลาดโลก มีการกำหนดราคากลางเพื่อให้มีราคาเป็นธรรมกับผู้ปลูกสมุนไพร หรือการประกาศขับเคลื่อนทำกฎหมายส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก และยังสนับสนุนการแก้กฎหมายหรือร่างกฎหมายใหม่ เพื่อให้มีการผลิตยาในประเทศได้

นอกจากนั้น นายสมศักดิ์ ยังมีบทบาทในกลไกระดับโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรด้านสาธารณสุข หนึ่งในนั้นคือกระบวนการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีความขลุกขลักในระหว่างทาง โดยนายสมศักดิ์ ได้เข้ามานั่งเป็นหัวโต๊ะในตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เพื่อสางปัญหาในกระบวนการถ่ายโอนฯ

ในส่วนของความคืบหน้าล่าสุด หลังจากที่มีการประกาศปรับ ครม. ใหม่ นายสมศักดิ์ ยังไม่ได้ออกมาระบุถึงบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ที่ต้องมาดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุขโดยตรง รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเรือธงของรัฐบาลอย่างโครงการยกระดับ ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ที่ตั้งเป้าช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพยุคใหม่ที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นแม้ที่ผ่านมานายสมศักดิ์ จะเคยมีชื่อคุมกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ด้วยระยะเวลาอันสั้นก็อาจยังไม่ได้เปิดโอกาสให้แสดงผลงานออกมาได้มากมายนัก เท่ากับการกลับเข้ามาสู่ตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ใหม่ในครั้งนี้ ที่น่าจับตาต่อไปว่าจะมีระยะเวลาเพียงพอให้นายสมศักดิ์ ได้แสดงฝีมือในการเดินหน้านโยบายต่างๆ ภายใต้กระทรวงหมอนี้ต่อไปอย่างไร