ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. จับมือ จุฬาฯ และกรมสุขภาพจิต แถลงข่าว “เพิ่มช่องทางประเมินสุขภาพใจผ่าน AI DMIND” บน “ไลน์ สปสช.” ร่วมดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการตรวจสุขภาพใจ คัดกรองภาวะซึมเศร้า ที่สะดวกและรวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ให้ผลประเมินถูกต้องและแม่นยำ     


 วันที่ 15 มี.ค. 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช (AIMET) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าว สปสช. จับมือ จุฬาฯ และกรมสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางประเมินสุขภาพใจผ่าน AI DMIND” แนะนำช่องทางการเข้ารับบริการประเมินสุขภาพใจด้วย AI DMIND ผ่านไลน์ สปสช. 

นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภารกิจหลักของกรมสุขภาพจิต คือ การดูแลสุขภาวะทางจิตใจของคนไทยทุกคน มุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดีอย่างยั่งยืน การร่วมมือภายใต้ AIMET เป็นการยกระดับการเพิ่มการเข้าถึงการประเมินภาวะซึมเศร้าและภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการการรักษามากยิ่งขึ้น กรมสุขภาพจิต จึงได้ร่วมพัฒนา AI DMIND โดยใช้ข้อมูลบริการสายด่วนสุขภาพจิตว่าน้ำเสียงของเคสซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายมีลักษณะอย่างไร รวมทั้งมีจิตแพทย์ร่วมพัฒนาเพื่อเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือของการประเมินด้วย AI DMIND ให้ถูกต้องเมื่อเทียบกับการประเมินของจิตแพทย์ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เมื่อถูกประเมินจาก AI DMIND แล้วพบว่าเป็นเคสเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายและยินดีให้บุคลากรสาธารณสุขดูแล นักจิตวิทยาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะติดต่อไปยังข้อมูลที่เคสเสี่ยงให้ไว้ เพื่อทำการประเมินและให้บริการให้การปรึกษา (Hope Task Force) ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตาย จะส่งต่อไปยังหน่วยปฏิบัติการดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป โดยความร่วมมือในวันนี้เป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะเป็นการพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการ การประเมินด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้เคสซึมเศร้าหรือมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ได้รับบริการการดูแล  

.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตสร้างความทุกข์ทรมานทั้งกับผู้ป่วยและครอบครัว ไม่กี่ปีมานี้จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 และข้อมูลในปี 2566 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ถึง 1.5 ล้านคน และอาจมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้เข้ารับการบำบัดดูแล ปัญหานี้ไม่ว่าภาครัฐจะระดมสรรพกำลังผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตมากขึ้นเพียงใดก็ไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการความช่วยเหลือที่เร่งด่วนนี้ 

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยแก้ปัญหาจะทำให้กระบวนการเข้าถึงผู้ป่วยทำได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าทาง AI นี้ คณะแพทยศาสตร์ได้พัฒนาร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ AI DMIND เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่ร่วมพัฒนาขึ้น มีการทำงานร่วมกับเป็นทีม ทั้งแพทย์ นักจิตวิทยาและวิศวกรคอมพิวเตอร์ ในการจัดทำเครื่องมือคัดกรองภาวะซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพสามารถจัดแบ่งความรุนแรงได้ตรงเพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลที่เหมาะสมกับแต่ละคน ช่วยจิตแพทย์และนักจิตวิทยาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาที่รวดเร็วและป้องกันการฆ่าตัวตายที่จะเกิดขึ้นได้

1

ผศ.ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า AI DMIND เป็นนวัตกรรม AI ที่มีระบบนิเวศน์ที่ครบถ้วน จากการนำโจทย์จริงของกรมสุขภาพจิตมาวิจัยระดับต้นน้ำโดยทีมจากคณะแพทย์ศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประเมินระดับภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายจากภาพ เสียง และข้อความ ผ่านการสัมภาษณ์ด้วย AI ส่งต่อมาให้การทำงานในระดับกลางน้ำโดย AIMET ในฐานะของโครงการที่สำคัญของหน่วยงานตามมติของ ครม. ภายใต้การสนับสนุนของสภาพัฒน์ฯ เพื่อนำงานวิจัยที่ตั้งต้นมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความแม่นยำในการประเมิน รวมไปถึงการรองรับผู้ใช้จำนวนมาก แล้วส่งต่อให้เกิดการนำไปสู่การใช้งานจริงของส่วนปลายน้ำ โดยทีมสายด่วนของกรมสุขภาพจิต และ Hope Task Force มีการสนับสนุนสิทธิรักษาพยาบาลจากทาง สปสช. จะเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่มีระบบนิเวศน์ที่ต่อเนื่องและครบถ้วน DMIND จะไม่สามารถสร้างคุณค่าที่เกิดประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างได้อย่างเต็มที่

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ไม่ครอบคลุมเพียงสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพใจ ดังนั้นนอกจากบริการด้านจิตเวชที่หน่วยบริการและบริการติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน ปี 2566 สปสช. ได้เพิ่มบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่สะดวกและรวดเร็ว โดยสนับสนุนกรมสุขภาพจิตจัดบริการ “สายด่วนสุขภาพจิต 1323” ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้การดูแลคนไทยทุกคน ดำเนินการโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

อย่างไรก็ดี การให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แต่ละครั้ง ผู้เชี่ยวชาญจะต้องใช้เวลาให้คำปรึกษา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการได้ ขณะที่ปัญหาทางจิตใจโดยเฉพาะผู้มีภาวะซึมเศร้า บางครั้งอาจต้องได้รับการประเมินและดูแลโดยเร่งด่วน ดังนั้น AI DMIND จึงเป็นช่องทางที่ช่วยให้เข้าถึงบริการได้โดยเร็ว 

สปสช. จึงสนับสนุนเพิ่มช่องทางการเข้ารับบริการ AI DMIND ผ่าน “ไลน์ สปสช.” ที่สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน เพียง Click ที่รายการ “ตรวจสุขภาพใจ กับ DMIND” ด้านล่างขวามือและทำตามขั้นตอนแนะนำ ก็จะได้รับการคัดกรองด้วยระบบ AI DIMIND ซึ่งใช้ได้แล้ววันนี้ 

“ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากผลการคัดกรองพบว่า ท่านเป็นผู้ที่มีเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าจำเป็นต้องทำการรักษา สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำของท่านได้ โดยแพทย์ที่หน่วยบริการประจำหลังทำการประเมินแล้วท่านมีภาวะที่จำเป็นต้องได้พบจิตแพทย์ ก็จะมีการส่งต่อเพื่อรับการดูแลต่อไป โดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว