ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจมีสายที่โทรเข้ามาเพื่อรอขอคำปรึกษา แต่สุดท้ายก็เข้าไม่ถึง รอไม่ไหว จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายไป ตรงนี้คือข้อจำกัดของเรา ... เราที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอจะจัดหานักจิตวิทยามาเพิ่มเติม (ในสายด่วนสุขภาพจิต) ได้

ที่ผ่านมา The Coverage ได้นำเสนอประเด็น ผู้ป่วยจิตเวช กำลังท่วมโรงพยาบาล (https://www.thecoverage.info/news/content/4596) เพราะจิตแพทย์มีไม่เพียงพอ ส่งผลให้คิวการรักษายาวไปถึงปีหน้า

นั่นคือสภาพการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

โรคทางจิตเวชได้สร้างความทุกข์ระทมให้กับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่คนปกติจะเข้าอกเข้าใจผู้ป่วยได้อย่างลึกซึ้ง

แม้ว่าความรู้สึกของคนที่ถูกกักขังอยู่ในร่างกายตัวเองไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดหรือตัวหนังสือได้ หากแต่ทางการแพทย์ย่อมมีวิธีการคลี่คลายความทุกข์นั้น

หัวใจจึงอยู่ที่การเข้าถึงการรักษา หรือการเข้าถึงคำปรึกษาที่ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้อง

ในเรื่องนี้ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้เกียรติพูดคุยกับ ‘The Coverage’ เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงรายละเอียดในมุมที่ลึกลงไป

1

หลังโควิด สถิติฆ่าตัวตายพุ่ง

พญ.วิมลรัตน์ เริ่มต้นด้วยการเปิดตัวเลข ‘ผลการสำรวจสุขภาพจิตด้วยตัวเอง’ ผ่านเว็บไซต์ www.วัดใจ.com ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งพบว่า ความเครียดมักกระจุกตัวอยู่ใน ‘กลุ่มวัยรุ่น’ มากที่สุด

ลงลึกไปกว่านั้นพบว่า ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตายถึง 4.55% และที่น่าสนใจคือ ตัวเลขขยับขึ้นจากช่วงก่อนที่จะมีโควิด 19 ระบาดอีกด้วย

ย้อนกลับไปช่วงก่อนการระบาด สถิติการฆ่าตัวตายของประเทศไทยอยู่ที่ 6.4 คนต่อแสนประชากร แต่เมื่อโควิด 19 ระบาดจนมาถึงปัจจุบัน สถิติการฆ่าตัวตายกลับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.3 คน ต่อแสนประชากร

กลุ่มที่ลงมือฆ่าตัวตายสำเร็จสูง คือ ‘กลุ่มผู้สูงอายุ’ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ถ้าเทียบกับประชากร 1 แสนคน ผู้สูงอายุจะฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 9.6 คน

กระนั้น กลุ่มที่ต้องจับตาควบคู่กันไปก็คือ ‘กลุ่มวัยทำงาน’ ตั้งแต่อายุ 20-59 ปี ที่มีสถิติการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.7 คนต่อแสนประชากร ส่วน ‘กลุ่มวัยรุ่น’ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 2.6 คนต่อแสนประชากร

สำหรับความพยายามฆ่าตัวตาย รวมไปถึงการทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ พบความความชุกใน ‘กลุ่มวัยรุ่น’ (15-19 ปี) มากที่สุด โดยพบผู้ในสัดส่วน 225 คนต่อแสนประชากร รองลงมาคือ ‘วัยทำงาน’ สัดส่วน 45 คนต่อแสนประชากร

ที่น่าตกใจคือมี ‘กลุ่มวัยเรียน’ (5-15 ปี) สัดส่วน 41 คนต่อแสนประชากร ที่มีความพยายามจะจบชีวิตตัวเอง

“กลุ่มคนสูงอายุจะมีสถิติพยายามฆ่าตัวตายน้อย เพราะถ้ากลุ่มนี้ลงมือ คือทำให้สำเร็จเลย” พญ.วิมลรัตน์ บอกกับเรา

2

เพราะแต้มบุญเราไม่เท่ากัน

ถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องจิตใจป่วยมากขึ้น “พญ.วิมลรัตน์” อธิบายว่า สาเหตุมีหลายอย่าง แต่จะคลุมใน 3 ปัจจัย ประกอบด้วย

1. ปัจจัยจากตัวเอง ที่เป็นคนคิดมากหรือคิดน้อย ซึ่งเป็นสาเหตุของการป่วยที่พบเจอได้กับทุกคน อย่างเช่น เด็กหรือวัยรุ่น จะคิดมาก และคิดในแง่ลบไปกับเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เช่น เรียนอยู่ชั้น ม.4 แต่กำลังพะวงถังการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะสอบได้หรือไม่ จะมีผลต่อชีวิตการทำงานหรือเปล่า แล้วเจ้านายจะเป็นคนยังไง ถ้าไม่ได้อยู่องค์กร บริษัทดีๆ ถ้าไม่ได้อย่างที่หวังก็จะมีปัญหาตามมาอีกมาก ทั้งที่ความจริงแล้ว เราควรโฟกัสกันที่การสอบปลายภาคก่อนหรือเปล่า

2. ปัจจัยจากสภาพแวดล้อม อยู่ในสังคมที่ไม่ดีหรือดี หรือในกลุ่มเพื่อนที่พากันเกเร หรือพากันเรียนหนังสือ เกิดการกลั่นแกล้งบูลลี่กันในหมู่เพื่อน หรือเกิดมาในครอบครัวที่แตกแยก รุนแรง ซึ่งปัจจัยสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอีกตัวกำหนดสุขภาพจิตได้เช่นกัน

3. ปัจจัยจากสังคม เช่น เกิดเศรษฐกิจไม่ดี หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้น ข่าวความรุนแรงในสังคมต่างๆ ทำให้เกิดความเครียด และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต

พญ.วิมลรัตน์ สะท้อนอีกว่า จะเห็นได้ว่าทั้งหมดคือสาเหตุที่เราไม่อาจควบคุมได้ และนำไปสู่ความเครียดสะสมกระทั่งต้องได้รับคำปรึกษา ซึ่งมันก็อาจะขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต้มบุญของแต่ละคนว่าจะเจอปัจจัยที่ดี หรือไม่ดี

บางคนอาจโชคดี แต่บางคนไม่ได้ทำบุญมามากขนาดนั้น บางคนมีชีวิตดีหรือบางคนแย่สุดๆ แต่พวกเขาไม่ได้ป่วยอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงแต่อยากได้รับคำปรึกษาหรือให้คลายความเครียดในช่วงนั้นๆ ไป ซึ่งสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่มีนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกาจะมีกระบวนการพูดคุยจากปัญหาที่ได้รับฟัง บ้างก็เพื่อเรียกสติให้ บ้างก็เพื่อให้ทำให้ความเครียดจางลง หรือบ้างก็ให้คำปรึกษาเฉพาะทางที่ต้องพบจิตแพทย์ด้วย

"เรามีกระบวนการพูดคุย เพื่อหาจุดหมายที่ชัดเจนให้กับคนที่เข้ามาขอคำปรึกษา เพื่อให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ ไม่ต้องทรมานกับการพายเรือทางความคิดในหัวของตัวเองที่มันวนเวียนไม่เจอทางออก"

สปสช. หนุนการพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต

อีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยคนไทยได้และน่าจะคุ้นกันดี คือ สายด่วนสุขภาพจิต 1323”

สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน รวม 15 คู่สาย ซึ่งทั้งหมดนี้รองรับได้เพียง 20% ของผู้ที่โทรมาขอรับคำปรึกษาทั้งหมด

พญ.วิมลลรัตน์ เล่าว่า ข้อจำกัดที่สำคัญที่ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ทั้งหมด และทำให้ผู้ที่ต้องการคำปรึกษาไม่อาจทนรอได้ หรือวางสายไปเลย คือ การรอคอย

อย่างไรก็ดี การให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยานั้น จำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างน้อย 30 นาที ยิ่งหากเป็นเคสที่กำลังจะฆ่าตัวตาย ก็ต้องประสานไปยังตำรวจ กู้ภัย ช่วยคุยช่วยพูดให้คำปรึกษาเพื่อยื้อเวลาให้ตำรวจได้เข้าไปช่วยไว้ก่อนจะเกิดเหตุขึ้น

“อาจมีสายที่กำลังรอคำปรึกษา แต่เข้าไม่ถึง สุดท้ายเขารอไม่ได้และสินใจฆ่าตัวตายไป ตรงนี้คือข้อจำกัด เราที่ไม่มีงบประมาณพอจะหานักจิตวิทยามาเพิ่มเติมได้” พญ.วิมลลรัตน์ สะท้อน

ทว่า ปัญหาดังกล่างกำลังได้รับความร่วมมือแก้ปัญหา เพราะล่าสุด สายด่วนสุขภาพจิต 1323’ ได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งหน่วยร่วมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แล้ว

การเข้ามาเป็นหน่วยร่วมบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะทำให้สามารถเบิกค่าบริการได้ หลังจากที่สายด่วน 1323 ได้ให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง (จะต้องมีการขอลงทะเบียนผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งเหมือนกับการลงทะเบียนในหน่วยบริการ)

อีกทั้ง เมื่อโรงพยาบาลที่ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ก็จะส่งต่อเคสมายังสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือที่สถาบันสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ที่จะทำการนัดหมาย และโทรไปให้คำปรึกษาตามเวลา

ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกอีกว่า สปสช. กับกรมสุขภาพจิต ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องความเครียดของคนไทยที่เป็นปัญหาสะสม เพราะเมื่อคนเครียดจัดๆ ไม่ได้รับการดูแล หรือเข้าไม่ถึงบริการ ความเครียดก็สะสมมากขึ้น และนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง และฆ่าตัวตาย

หากโรงพยาบาลให้คำปรึกษาสุขภาพจิตได้ ก็ไม่ต้องส่งเคสมา เหมือนกับว่าเราทำงานคู่กันไปเพื่อช่วยจิตใจคนไทยให้แข็งแรงมากขึ้น และที่สำคัญคือทำให้การบริการสุขภาพจิตไปถึงคนไทยมากขึ้นด้วย เพราะปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบันมันรุนแรงจริงๆ แม้เราจะมีนักจิตวิทยาที่เก่ง พร้อมช่วยเหลือ แต่การเข้าถึงบริการก็ต้องมีช่องทางมากขึ้นด้วยพญ.วิมลรัตน์ ย้ำ

เธอ บอกอีกว่า เงินค่ารักษาที่เบิกจาก สปสช.มาได้นั้น จะช่วยให้มีกำลังที่จะจัดหานักจิตวิทยาเพิ่มขึ้นสำหรับให้บริการประชาชนสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ปลายทางคือการได้ช่วยเหลือสุขภาพใจคนไทยได้มากขึ้น

2

ทริคเล็กๆ เมื่อโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323

พญ.วิมลลรัตน์ ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาเพื่อรักษาจิตใจของตัวเองผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สิ่งสำคัญที่สุดคือ รอนานแค่ไหน ก็อย่าเพิ่งวางสาย

เพราะเรา (สายด่วนสุขภาพจิต) การันตีเลยว่าจะรับสายแน่นอน แต่ที่รอสายเป็นเพราะนักจิตวิทยากำลังให้บริการคนอื่นอยู่ ซึ่งหากวางสายไปแล้วโทรมาใหม่จะทำให้ต้องต่อคิวเพื่อรับบริการใหม่ ยิ่งจะเสียเวลาไปอีก และการโทรเข้ามาก็ไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดสปีกเกอร์รอไว้ก็ได้ รอหน่อยนะคะ พญ.วิมลรัตน์ ให้คำแนะนำ

อีกอย่าง ช่วงพีคที่สุดที่ประชาชนมักโทรเข้ามามากคือช่วงเย็นถึงค่ำ หรือตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.00 น. หากเป็นไปได้ ‘พญ.วิมลลรัตน์’ บอกว่า ไม่อยากให้โทรช่วงนี้ แต่หากต้องโทร ก็โทรเข้ามาได้เลย แต่รอสายไว้ ไม่เกิน แต่รอสายไว้ไม่เกิน 30 นาที จะมีเจ้าหน้าที่รับแน่นอน

หากหลังเวลา 23.00 น.ไปแล้ว ระบบสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะเป็นสายอัตโนมัติ เพื่อให้ฝากข้อความติดต่อกลับคือเบอร์โทรศัพท์เอาไว้ และนัดหมายเวลาได้เลย ซึ่งเช้าวันต่อมาจะมีนักจิตวิทยาโทรกลับไป

“หรืออีกช่องทางคือ โทรมายังสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 02 248 8999 เพื่อนัดหมายขอคำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ได้เช่นกัน เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังได้มีคนรับฟัง ได้รับคำแนะนำ และการช่วยเหลือที่จำเป็นต่อไป” พญ.วิมลลรัตน์ กล่าวในตอนท้าย