ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 4 ระดมเครือข่ายแพทย์เฉพาะทาง จัดกิจกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ณ โรงพยาบาลบางปะอิน ลดคิวรอรับ “บริการส่องกล้อง” ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวดเร็ว ก่อนลุกลามสู่ภาวะโรครุนแรง


สำนักงานเขตสุขภาพที่ 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลบางปะอิน ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัด “โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ประจำปีงบประมาณ 2567” เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 โดยมี นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดโครงการ และมีผู้ร่วมงาน อาทิ นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุทธยา และ น.ส.ดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง (สปสช.) เป็นต้น

โครงการฯ ดังกล่าวเป็นความร่วมมือของแพทย์เฉพาะทางในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 ทั้งจากโรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเสนา โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลอ่างทอง รวมถึงโรงพยาบาลนอกเขตสุขภาพที่ 4 อย่างเช่น โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ และวิสัญญีแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อร่วมให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงโดยวิธีส่องกล้องสำหรับผู้มีผลการตรวจ FIT Test (Fecal immunochemical test) เป็นบวก เพื่อลดระยะเวลาการรอคิวรับบริการ 

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ในกลุ่มผู้ชายของเขตสุขภาพที่ 4 มีจำนวนค่อนข้างสูง เนื่องจากตรวจพบช้าทำให้โรคลุกลาม ปัญหาคือเมื่อตรวจ FIT Test มีผลเป็นบวกแล้ว ต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีส่องกล้อง แต่ด้วยโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) มีจำนวนผู้ป่วยมาก แม้ว่าในเวลาปกติจะให้บริการเต็มศักยภาพแล้ว แต่ก็ไม่ทันต่อจำนวนผู้ป่วยที่รอกรับบริการ เช่น รพ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้รอคิวส่องกล้องกว่า 500 ราย ขณะที่ รพ. ตรวจได้ 5-10 รายต่อวัน การจัดโครงการพิเศษในลักษณะนี้จึงช่วยให้กลุ่มเสี่ยงที่ผ่านการตรวจ FIT Test แล้วเข้าถึงบริการส่องกล้องได้รวดเร็วมากขึ้น เมื่อตรวจได้เร็วก็จะลดความรุนแรงของโรคหรือรักษาให้หายได้

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมนี้เป็นการสะท้อนความร่วมมือเครือข่ายภายในเขตสุขภาพที่ 4 ที่ได้ระดมแพทย์เฉพาะทางมาช่วยกันตรวจ โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ใน จ.พระนครศรีอยุธยา แล้ว ทำให้ลดคิวผู้ป่วยได้หลายร้อยคน นอกจากนี้ยังมีการจัดโครงการฯ นี้ที่จังหวัดอื่นๆ ในเขตสุขภาพที่ 4 ด้วยเช่นกัน โดยเดือน พ.ค. นี้จะไปจัดที่ รพ.นครนายก ต่อไป

"โรงพยาบาลไหนมีศักยภาพ มีจำนวนผู้ป่วยที่มากพอสมควร เราก็จะไปจัดโครงการลักษณะนี้ อย่าง รพ.บางปะอิน สามารถตรวจได้ประมาณ 50 คน เราก็มาจัด ช่วยลดภาระ รพ. แม่ข่าย ไม่ไปโหลดที่ รพศ./รพท. เพียงอย่างเดียว" นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ในมุม สปสช. มองว่าเมื่อผ่านการตรวจคัดกรอง FIT Test แล้ว ก็ไม่อยากปล่อยไว้เฉยๆ แต่ผู้ป่วยควรได้รับการส่องกล้องเพื่อตรวจอย่างละเอียดและรับการรักษาต่อ แต่เนื่องจากการตรวจด้วยกล้อง Colonoscope ต้องใช้ห้องผ่าตัด ซึ่งมักไม่ว่างเพราะต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ รวมถึงต้องสำรองไว้กรณีฉุกเฉิน ทำให้เกิดคิวรับบริการ ดังนั้นโครงการฯ นี้ ทำให้ตรวจผู้ป่วยได้ครั้งละมากๆ ในเวลา 1-2 วัน ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรอรับบริการและทำให้การรอคิวในระบบบริการปกติสั้นลง

"โครงการฯ นี้เป็นการเบิกจ่ายค่าบริการในส่วนของงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยกรณีต้องรับการรักษา จะเป็นการเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาล" ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าว

ด้าน นพ.ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะอิน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รพ.บางปะอิน ยังไม่มีศักยภาพในการส่องกล้อง จึงต้องส่งต่อผู้ป่วยไปตรวจที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา หรือ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะมีระยะเวลารอคิวประมาณ 4-6 เดือน แต่เมื่อ รพ.บางปะอิน ได้พัฒนาศักยภาพจนสามารถให้บริการส่องกล้องได้ ก็ช่วยให้คนไข้ในพื้นที่เข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยจากพื้นที่อำเภอใกล้เคียงด้วย และการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นระยะๆ ก็จะช่วยลดคิวผู้ป่วยรอรับบริการได้ โดยวันนี้สามารถให้บริการส่องกล้องผู้ป่วยได้ประมาณ 50 คน ส่วนผู้ป่วยที่เหลือก็ตรวจตามคิวในระบบปกติ จำนวน 5-10 คนต่อวัน ซึ่งก็รอไม่นาน ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยผู้ป่วย แต่ยังเป็นการลดภาระงานให้กับแพทย์ใน รพ. ด้วย