ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยกระดับ "วัดพระบาทน้ำพุ" เป็น "สถานชีวาภิบาลต้นแบบ" เขตสุขภาพที่ 4 พร้อมขึ้นทะเบียนเป็น "หน่วยชีวาภิบาล" ในระบบบัตรทอง รองรับผู้ป่วยระยะท้าย จ.ลพบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ให้การดูแลอย่างมีมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้ายจากไปอย่างสงบ


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหาร เป็นประธานเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบสุขภาพเขตที่ 4 ที่วัดพระบาทน้ำพุ อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 โดยมี พระปัญญาวิสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ฝ่ายธรรมยุติ, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ., นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), ว่าที่ ร.ต.ทรงพล แป้นแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี, นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 4 คณะผู้บริหาร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประเทศไทยวันนี้ได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยมีผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ และมีปัญหาสุขภาพด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งส่วนหนึ่งยังมีภาวะเจ็บป่วยระยะท้าย สธ. จึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย 1 เขตสุขภาพ 1 สถานชีวาภิบาล และวัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี เป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบเขตสุขภาพที่ 4 โดยสถานชีวาภิบาลจะเป็นหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างสงบสุข รวมถึงผู้สูงอายุ พระสงฆ์ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

สำหรับ วัดพระบาทน้ำพุ เป็นต้นแบบสถานชีวาภิบาลที่ให้วัดเข้ามาเป็นศูนย์กลางการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจัดตั้งเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยระยะท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนจากไปอย่างสงบ

ขณะเดียวกันยังเป็นการลดการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้ชุมชนดูแลแทนตามหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังลดภาระค่าใช้จ่ายของญาติ ครอบครัว ที่ต้องดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งเป็นภาระที่หนักสำหรับประชาชน

ขณะที่ พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ กล่าวว่า 31 ปีมาแล้วที่วัดพระบาทนำพุได้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เน้นให้การดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะท้าย กระทั่งปัจจุบันได้ร่วมกับ สธ. ยกระดับวัดวัดพระบาทน้ำพุเป็นสถานชีวาภิบาล เพื่อเป็นศูนย์กลางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยระยะพึ่งพิง และผู้ป่วยติดเตียงใน จ.ลพบุรี รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ผู้สูงอายุรวมถึงผู้ป่วยในระยะท้ายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ สถานชีวาภิบาล วัดพระบาทน้ำพุ มีทั้งหมด 32 เตียง เป็นชีวาภิบาลชาย 10 เตียง ชีวาภิบาลหญิง 10 เตียง กุฏิชีวาภิบาลที่ดูแลพระสงฆ์ 10 เตียง และอีก 2 เตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือกลุ่ม End of Life โดยมี รพ.พระนารายณ์มหาราช ให้การสนับสนุนและจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างถูกต้อง พร้อมเตรียมพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้กับพระสงฆ์ในวัดต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติแนวทางการดูแลพระสงฆ์อาพาธด้วยกันเอง และแผ่ขยายการดูแลออกไปให้มากยิ่งขึ้นด้วย

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สถานชีวาภิบาลวัดพระบาทน้ำพุ เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล” หรือ หน่วยชีวาภิบาล เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยติดเตียง โดยปัจจุบัน จ.ลพบุรี มีผู้ป่วยระยะท้าย 2,070 คน ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงจำนวน 1,021 คน ผู้ป่วยติดเตียงอีก 1,051 คน และมีผู้สูงอายุมากถึง 21% ของประชากรทั้งจังหวัด

ในส่วนของสถานชีวาภิบาล เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานบริการสาธารณสุข ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุมัติให้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2567 เพื่อให้มาเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำหรับผู้แลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงทั่วประเทศที่มีกว่า 3 แสนคน และวัดเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเป็นสถานบริการสาธารณสุขตามกฎหมาย และจัดตั้งเป็นสถานชีวาภิบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยติดเตียงได้

นอกจากนี้ ในส่วนองค์กรศาสนาอื่น รวมถึงสถานชีวาภิบาลที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ที่ไม่แสวงหากำไร สถานชีวาภิบาลในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถานชีวาภิบาลเอกชน ก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 3 ในระบบของ สปสช. ซึ่ง สปสช. จะมีการกำกับติดตามเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้การดูแลผู้ป่วยในสถานชีวาภิบาลมีคุณภาพมากที่สุด