ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรพระพุทธศาสนาจับมือองค์กรเครือข่ายด้านสาธารณสุข ปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ “ธรรมมรรคาสู่ระบบสุขภาพที่สมดุล” สู่เป้าหมายให้พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และยกระดับพระสงฆ์เป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม พร้อมหนุนนโยบายรัฐบาล “การขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาลโดยองค์กรพระพุทธศาสนา” 


องค์กรพระพุทธศาสนา ร่วมกับหน่วยงาน/องค์กรด้านสาธารณสุข จัดงานปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2566 “ธรรมมรรคาสู่ระบบสุขภาพที่สมดุล” ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เป็นองค์ประธานในพิธี และมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวนำการปวารณาฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 14 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันบรมราชชนก กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมการศาสนา แพทยสภา สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และเครือข่ายพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์

1

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฝ่ายคฤหัสถ์ กล่าวที่มาการขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์ว่า ย้อนไปช่วงปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทามติในการพัฒนาประเด็นนโยบายสาธารณะเรื่องพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งขณะนั้นพระสงฆ์มีความเสี่ยงอาพาธจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากของขบฉันและภัตตาหาร รวมถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และฐานข้อมูลพระสงฆ์ที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ มติดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชนในระดับพื้นที่มากมาย 

ต่อมาในปี 2560 ได้มีการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติขึ้นมา โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และ 3.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม จากนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติขึ้น โดยมีผู้แทนคณะสงฆ์ ผู้แทนหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยมีเป้าหมายให้พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ผ่านโครงการ/กิจกรรมของแต่ละหน่วยงาน และในปี 2567 นี้ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติยังคงมุ่งเน้นการใช้ทางธรรมนำทางโลก และต้องกราบนมัสการขอบพระคุณ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ที่มีเมตตาและดำริในการจัดงานปวารณาในครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงกุศลเจตนาของชาวพุทธ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในการถวายการอุปัฏฐากและดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย รวมถึงการได้รับเมตตาจากพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับชุมชนและสังคมต่อไป

4

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนของหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายในวันนี้ ขอปวารณาการสานพลังขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชน มุ่งให้เกิด “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และสืบทอดพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในฐานะที่เป็นศาสนาหลักของประชาชนคนไทยให้มั่นคงสืบต่อไป 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์แบบบูรณาการ ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้เกิดผลเชิงรูปธรรมแล้ว อาทิ มีพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ได้รับการตรวจสอบสิทธิเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขแล้ว จำนวน 164,004 รูป  มีพระภิกษุและสามเณรได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ จำนวน 81,542 รูป มีการเชื่อมโยงวัดกับหน่วยบริการจำนวน 9,622 แห่ง มีพระคิลานุปัฏฐากที่ผ่านการอบรม จำนวน 13,200 รูป มีวัดส่งเสริมสุขภาพที่ผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว จำนวน 18,174 แห่ง และมีวัดร่วมพัฒนาชุมชนคุณธรรม จำนวน 4,911 แห่ง ตลอดจนมีการผลิตสื่อทำความเข้าใจต่าง ๆ เช่น คู่มือแนวทางการอบรมหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก สื่อสงฆ์ไทยไกลโรค ฯลฯ 

4

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนสำคัญในปี 2567 จะมีการขับเคลื่อนงานสำคัญ คือ การผลักดันงานฐานข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์เพื่อยกระดับด้านการเข้าถึงสิทธิการดูแลสุขภาพและเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขของพระสงฆ์ และการขับเคลื่อนงานกุฏิชีวาภิบาลและสถานชีวาภิบาลในการถวายการดูแลพระสงฆ์อาพาธและการดูแลระยะท้าย และจัดทำมาตรฐานการจัดบริการของสถานชีวาภิบาลสำหรับองค์กรพระพุทธศาสนา รวมถึงการขึ้นทะเบียนวัดที่จัดบริการดูแลพระสงฆ์อาพาธ/ผู้ป่วย เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้  

"ในโอกาสนี้ เกล้าขอกราบขอบพระคุณในเมตานุเคราะห์อย่างยิ่งของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร รวมทั้งพระเถรานุเถระ พระคิลานุปัฏฐากทุกรูป ขอขอบคุณคณะผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วมปวารณาทุกท่าน ขอขอบคุณครับ" นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ในปี 2567 นี้นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา จึงทำให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายสุขภาพเพื่อสานพลังในการขับเคลื่อนงานผ่านโครงการต่าง ๆ ที่มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคี ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เช่น โครงการส่งเสริมพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อพัฒนาอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลพระสงฆ์อาพาธ การขับเคลื่อนการจัดทำสมาร์ทการ์ดของพระภิกษุและสามเณร โดยการจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลพระภิกษุและสามเณร เพื่อให้พระภิกษุและสามเณรได้รับการบริการสาธารณสุขและสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการสังฆาภิบาลเพื่อพระสงฆ์อาพาธ ส่งเสริมวัดให้มีอาคาร สถานที่ในการสังฆาภิบาลดูแลพระสงฆ์อาพาธ โครงการส่งเสริมพระคิลานธรรม พระสงฆ์จิตอาสาที่ทำงานด้านการเยียวยาความสูญเสีย และดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติ ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน และโครงการพระบริบาลภิกษุไข้ เพื่อพัฒนาพระภิกษุสงฆ์เพื่อให้มีองค์ความรู้และทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และทักษะในการบริบาลพระภิกษุไข้ เป็นต้น 

5

"การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการร่วมกันทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 หน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงขอปวารณาสานพลังการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และจะขับเคลื่อนงานอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสืบไป" นางพวงเพ็ชร กล่าว

นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ในประเด็นพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยเป็นหนึ่งในเครื่องมือตามพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่มุ่งให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดี รวมถึงการส่งเสริมให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำของชุมชนและสังคมไทยได้เมตตาปฏิบัติศาสนกิจและบทบาทการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับสังคมไทย การร่วมปวารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการสานพลังอย่างแท้จริงในการร่วมมือที่ไม่ใช่เพียงภาครัฐอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนก็มีส่วนสำคัญในการสร้างระบบสุขภาพได้อย่างสมดุล โดยมีคณะสงฆ์ และวัดเป็นศูนย์กลาง

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. สนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดีและก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งล่าสุด สปสช. ได้มีการกําหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งจะทำให้วัด สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการด้านชีวาภิบาล เพื่อให้การดูแลภิกษุหรือญาติโยมที่ป่วยระยะสุดท้ายได้ อันจะเป็นการส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์การเป็นผู้นำด้านสุขภาวะในชุมชนตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างแท้จริง