ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ได้เปิดตัว “ธรรมนูญสิทธิความปลอดภัยผู้ป่วย” ณ งานประชุมสุดยอดรัฐมนตรีระดับโลกด้านความปลอดภัยผู้ป่วยครั้งที่ 6 ณ กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี

ธรรมนูญฉบับนี้ได้กล่าวถึงสิทธิผู้ป่วยในประเด็นของความปลอดภัย และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำธรรมนูญฉบับนี้ไปพัฒนาเป็นกฎหมาย นโยบาย และแนวทางในการรับรองความปลอดภัยของผู้ป่วยในประเทศของตน

สำหรับ “ความปลอดภัยของผู้ป่วย” หมายถึงกระบวนการ ขั้นตอน และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนการสร้างความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเมื่อรับบริการ พร้อมวางอยู่บนหลักการที่ว่า ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนโลก โดยไม่แบ่งแยกเพศ อายุ เชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความบกพร่องทางร่างกาย สถานะเศรษฐกิจ หรือสถานะอื่นๆ

ทั้งนี้ ความปลอดภัยของผู้ป่วยถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สิทธิด้านสุขภาพเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะเมื่อยังมีผู้ป่วย 1 ใน 10 ทั่วโลก ที่ประสบความเสียหายจากบริการสุขภาพ แม้ว่า 50% ของความเสียหายนี้สามารถป้องกันได้

ความเสียหายเหล่านี้สามารถเกิดจากข้อผิดพลาดในการให้บริการต่างๆ เช่น กระบวนการผ่าตัดที่ไม่ปลอดภัย ข้อผิดพลาดในการจ่ายยา การวินิจฉัยที่ผิดหรือล่าช้า เทคนิคการฉีดยาหรือการถ่ายเลือดที่ไม่ปลอดภัย และการติดเชื้อที่มีอันตรายต่อชีวิต

ปัญหานี้ถือเป็นอุปสรรคระดับโลก เพราะเกิดขึ้นในหลายประเทศโดยไม่เกี่ยวข้องกับระดับรายได้ และระดับการให้บริการสุขภาพ ซึ่งความเสียหายโดยมากไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว แต่เกิดจากความล้มเหลวของกระบวนการในระบบสุขภาพที่ออกแบบไม่ดีพอ

"ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลักการพื้นฐานของบริการสุขภาพ นั่นคือการทำให้ไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลก และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” นพ.รูดี้ เอกเกอร์ (Rudi Eggers) ผู้อำนวยการสำนักบริการสุขภาพแห่งองค์การอนามัยโลก กล่าว และเสริมว่า “ความปลอดภัยของผู้ป่วยสามารถเป็นตัวชี้วัดของประเทศที่มีการมุ่งมั่นในการเคารพ ปกป้อง และรับรองสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ"

ในส่วนของธรรมนูญสิทธิความปลอดภัยผู้ป่วยที่เพิ่งคลอดใหม่นี้ ครอบคลุม 10 สิทธิหลักในการเข้าถึง ได้แก่ 1) สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสม ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ 2) กระบวนการและแนวปฏิบัติด้านสุขภาพที่ปลอดภัย 3) บุคลากรด้านสุขภาพที่มีความรู้ความสามารถ 4) ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัย 5) สถานพยาบาลที่ปลอดภัย

6) บริการที่ให้ความเคารพ ไม่เหยียดหยาม ไม่แบ่งแยก รักษาความเป็นส่วนตัวและความลับของผู้ป่วย 7) ข้อมูลและการศึกษาที่ช่วยในการตัดสินใจของผู้ป่วย 8) เข้าถึงบันทึกการรักษาทางการแพทย์ 9) แสดงความคิดเห็นและได้รับการรับฟังอย่างเป็นธรรม และ 10) การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว

สำหรับการปรับปรุงความปลอดภัยของผู้ป่วย เป็นวาระความสำคัญระดับโลก ซึ่งระบุไว้ในมติที่ 72.6 ของสมัชชาอนามัยโลก ว่าด้วยการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย และแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย ปี 2564-2573

นพ.นีลัม ดิงกรา (Neelam Dhingra) หัวหน้าหน่วยความปลอดภัยของผู้ป่วย แห่งองค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้นานาประเทศนำธรรมนูญฉบับนี้ไปปรับใช้ในระบบสุขภาพ พร้อมระบุว่าทุกคนในทุกสถานที่ มีสิทธิเข้าถึงความปลอดภัยในฐานะผู้ป่วย

“การเปิดตัวธรรมนูญนี้เป็นก้าวสำคัญสู่การบรรลุโลกที่ปลอดภัยและเสมอภาค เพราะมันจะเป็นทรัพยากรสำคัญในการช่วยประเทศบูรณาการแนวคิดด้านนี้เข้าสู่ระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว ความเท่าเทียม ความเคารพซึ่งกันและกัน และการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ”

ธรรมนูญนี้จะเป็นเครื่องมือสำหรับบุคลากรสุขภาพ ผู้นำ และรัฐบาล ในการสร้างระบบสุขภาพที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งปรับปรุงความปลอดภัยของผู้ป่วย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายในบริการสุขภาพ

นอกจากนี้ ธรรมนูญยังรวมข้อมูลที่ผู้ป่วยสามารถนำไปรณรงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองตนเองจากความเสียหาย ทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว ผู้ดูแล และชุมชน เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการดูแลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ


อ้างอิง
https://www.who.int/news/item/18-04-2024-who-launches-first-ever-patient-safety-rights-charter