ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในแต่ละปี มีประชากรโลกกว่า 100 ล้านคนที่ตกลงสู่ความยากจนเนื่องจากค่าบริการสุขภาพ ขณะที่กลุ่มประชากรเปราะบางมักไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ บริการและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ

ทั้งยังมีการตีตราและกีดกันทางสังคมในหลายประเทศ จนส่งผลต่ออัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มประชากร

องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) จึงเห็นความเร่งด่วนในการค้นหายุทธศาสตร์มาปิดช่องว่างนี้ โดยเน้นแนวทางที่อยู่นอกเหนือภาคส่วนบริการสุขภาพแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นเพียงการเข้าถึงบริการผ่านสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์

“การดูแลตัวเอง” ถูกให้นิยามด้วยความสามารถของบุคคล ครอบครัว และชุมชุน ในการส่งเสริมสุขภาพของตนเอง ป้องกันโรค รักษาสุขภาพ และจัดการกับโรคได้ด้วยตนเอง หรือโดยรับการสนับสนุนจากบุคลากรทางการแพทย์

หลักการสำคัญของการดูแลตัวเอง คือการตระหนักถึงบทบาทของบุคคลในการจัดการดูแลสุขภาพด้วยตนเองในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งสามารถให้การดูแลแก่ผู้ป่วยพึ่งพิง หรือผู้ป่วยในระยะสุดท้าย

องค์การอนามัยโลกย้ำว่าการดูแลสุขภาพตัวเองไม่สามารถแทนที่บริการในระบบสุขภาพได้ทั้งหมด แต่เป็นการนำเสนอทางเลือกเพิ่มเติมให้กับประชาชน คุณูปการของการดูแลสุขภาพตัวเอง ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในระหว่างวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเห็นประชาชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และตรวจเชื้อด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากจะป้องกันการติดเชื้อในภาวะฉุกเฉินแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองจนหายจากโรค

เครื่องมือที่ใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองมี 2 ลักษณะ อย่างแรกคือการใช้ยารักษาโรค อุปกรณ์การวินิจฉัยโรคและเครื่องมือดิจิทัลสุขภาพต่างๆ ซึ่งสามารถใช้ด้วยตนเอง หรืออยู่ภายใต้ความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ 

ในกรณีที่เครื่องมือนั้นๆ ต้องใช้อย่างระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างของเครื่องมือที่ใช้ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ชุดเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วยตนเอง โดยเชื้อนี้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

ถุงยางชายและหญิงเป็นอีกเครื่องมือที่ใช้การป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และยังป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเชื้อเอชไอวี

ชุดตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเองก็เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ใช้จัดการโรคเบาหวาน เช่นเดียวกับการตรวจวัดความดันด้วยตนเอง ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการโรคความดันโลหิตสูง

ลักษณะการดูแลสุขภาพด้วยตนเองอย่างที่สอง คือปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงนิสัย พฤติกรรม และรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น การหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถป้องกันประชากร 3.9 ล้านคน จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในแต่ละปี

การเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการเสพสุราและสารเสพติด ก็เป็นอีกรูปแบบการดูแลสุขภาพที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วย

อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำถึงการใช้เครื่องมือดูแลสุขภาพที่ผลิตขึ้นบนฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้

การใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้รับการควบคุมมาตรฐาน หรือมีคุณภาพต่ำ ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อน และสร้างภาระทางโรคและการเงินให้แก่ระบบสุขภาพ

นอกจากนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการดูแลสุขภาพตนเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งสามาถทำได้ผ่านหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภายในภาคส่วนสุขภาพกันเอง ภาคส่วนการศึกษา หรือการสร้างความยุติธรรมและสวัสดิการสังคม

องค์การอนามัยโลกได้จัดทำคู่มือและกรอบการทำงานส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง โดยบูรณาการเข้ากับบริการแพทย์ปฐมภูมิ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals)

กรอบการทำงานนี้เน้นแนวทางการจัดบริการที่มีผู้คนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงสิทธิด้านสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ ความเท่าเทียมทางเพศ และจรรยาบรรณ

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยี เข้ามาใช้เพิ่มศักยภาพการดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชน และเพิ่มทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง
 


อ่านบทความต้นฉบับ:https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/self-care-health-interventions