ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected tropical diseases) สร้างความเจ็บป่วยให้ประชากร 1,700 ล้านคนทั่วโลก ทั้งที่โรคเหล่านี้สามารถรักษาและป้องกันได้ โดยมันได้ส่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มยากจนและชายขอบมากที่สุด

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ระบุว่า นอกจากโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยจะสร้างผลร้ายต่อสุขภาพมนุษย์ มันยังส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ต้นเหตุของโรคเหล่านี้มักมาจากแบคทีเรีย พยาธิ และเชื้อรา ก่อให้เกิดโรคอย่างเช่น โรคเรื้อน พิษสุนัขบ้า ริดสีดวงตา พยาธิกิเนีย แผลบูรูลี ไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา พิษงูกัด พยาธิใบไม้ และคุดทะราด

"Uniting to Combat Neglected Tropical Diseases" ซึ่งเป็นองค์กรให้คำปรึกษาด้านโรคเขตร้อน ระบุว่า ปัจจุบันมี 50 ประเทศที่สามารถกำจัดโรคเขตร้อนได้อย่างน้อยหนึ่งโรค ซึ่งช่วยให้ประชากร 600 ล้านคนปราศจากโรคเหล่านี้

ในปี 2566 ได้เกิดความก้าวหน้าในการต่อสู้กับโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยในหลายประเทศ เช่น ประเทศกานา สามารถกำจัดโรคจากปรสิตอย่าง แอฟริกันทริปาโนโซมิเอซิส (African trypanosomiasis) หรือ โรคเหงาหลับ ซึ่งมีแมลงวันเป็นพาหะ และทำให้เสียชีวิตได้

ประเทศเบนิน มาลี และอิรัก สามารถกำจัดโรคริดสีดวงตาได้สำเร็จ โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อที่ทำให้ตาบอด และยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขใน 41 ประเทศทั่วโลก โดยมีประชากรในแอฟริกา 105 ล้านคนที่เสี่ยงเป็นโรคนี้

ส่วนบังกลาเทศ ก็เป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถกำจัดโรคลีชมาเนีย (Visceral Leishmaniasis) หรือ คาลา-อซาร์ (Kala - azar) โรคนี้มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้เกิดอาการไข้ น้ำหนักลด ม้ามและตับโต โดยบังกลาเทศยังสามารถกำจัดโรคเท้าช้าง ที่ทำให้ร่างกายเสียรูปทรงได้อีกด้วย

ในขณะที่มัลดีฟ สามารถควบคุมโรคเรื้อนให้เป็นศูนย์ในกลุ่มเด็กได้อย่างต่อเนื่องถึง 5 ปี โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อที่สร้างผลกระทบต่อผิวหนัง เส้นประสาท ทางเดินหายใจ และดวงตา

ข้อมูลจากมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ระบุว่า ความพยายามขจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ส่งผลให้การแพร่กระจายของโรค 15 ชนิด ลดลงจาก 40,000 กรณีในปี 2533 เหลือ 12,375 กรณีในปี 2564

นอกจากนี้ โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยยังได้รับการสนใจอย่างมาก ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เพราะที่ประชุมเน้นย้ำผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพมนุษย์

เจ้าภาพจัดประชุมอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ให้สัญญาต่อที่ประชุมว่าจะให้เงินทุนรวม 777 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการที่มุ่งขจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย รวมทั้งยกระดับบริการรักษาโรค ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม และสร้างความเข้มแข็งให้บุคลากรทางการแพทย์

ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ ยังเป็นที่พูดถึงในรายงานชิ้นใหม่ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ชื่อ “การประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพของมนุษย์” (Quantifying the Impact of Climate Change on Human Health)

"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งที่ทำให้แหล่งน้ำจืดลดลง การเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อหลังจากน้ำท่วม หรือมลพิษทางอากาศจากควันไฟป่า" ชยัม บิเชน (Shyam Bishen) หัวหน้าศูนย์สุขภาพประจำสภาเศรษฐกิจโลก กล่าว

รายงานชิ้นนี้ยังพยากรณ์จำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศประมาณ 14.5 ล้านรายภายในปี 2593 ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพ เช่น โรคไม่ติดต่อ โรคติดเชื้อ และโรคสุขภาพจิต

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรยุงเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจเพิ่มการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก และไข้ซิก้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสี่ยงต่อโรคนำพาโดยแมลงเพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านคนภายในปี 2593

สภาเศรษฐกิจโลก ได้เสนอให้ทุกฝ่ายหาทางออกต่อเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบเตือนภัยทางสภาพอากาศ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ และสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สร้างภูมิคุ้มกันและความทนทานให้ระบบสุขภาพ เพื่อรับมือและจัดการผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 


อ้างอิง: https://www.weforum.org/agenda/2024/01/what-is-neglected-tropical-diseases-day/