ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้เผยแพร่คู่มือแนวทางให้บริการเครื่องช่วยฟังสำหรับผู้มีปัญหาการได้ยิน ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ในการประเมินการได้ยิน และต้องการจัดบริการอย่างยั่งยืน

คู่มือนี้พัฒนาขึ้นด้วยการสนับสนุนจาก ATScale Global Partnership for Assistive Technology โดยเน้นหลักการแบ่งปันภาระงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ และผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรม ทั้งนี้ มีข้อเสนอ 2 แนวทางสำหรับการจัดบริการให้ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป พร้อมแนะเคล็ดลับสำหรับการดูแลรักษาหู การใช้เครื่องช่วยฟัง และวิธีการสนับสนุนผู้สูญเสียการได้ยิน

“มีผู้ที่มีปัญหาการได้ยินมากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องการเครื่องช่วยฟัง แต่มีเพียง 20% ของคนกลุ่มนี้ที่เข้าถึงเครื่อง” นพ.เบนเต มิกเคลเซน (Bente Mikkelsen) ผู้อำนวยการแผนกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังประจำองค์การอนามัยโลก กล่าว

“ปัญหาการได้ยินที่ไม่ได้รับการแก้ไขสร้างผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก และก่อให้เกิดความสูญเสียประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เราต้องพิจารณาแนวทางการให้บริการในลักษณะที่แตกต่างจากเดิมโดยเฉพาะเมื่อเรายังมีปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านหูและการได้ยิน” สำหรับการเผยแพร่คู่มือนี้ สืบเนื่องจากวันการได้ยินโลก (World Hearing Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มี.ค. ของทุกปี

ในส่วนของปีนี้ ได้เน้นประเด็นการเปลี่ยนมุมมองจัดบริการดูแลหูและการได้ยินเป็นเรื่องจริงสำหรับทุกคน รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาการสูญเสียการได้ยิน ที่มักมีความเชื่อผิดๆ ในกลุ่มผู้ให้บริการในระบบสาธารณสุขและแพทย์ปฐมภูมิ

หนึ่งในความท้าทายหลักในการให้บริการดูแลหูและการได้ยิน คือ สภาวะที่ระบบบริการขาดความสามารถในการบูรณาการบริการด้านนี้ตลอดช่วงชีวิตของผู้คน สะท้อนผ่านการขาดนโยบายที่จำเป็น ขาดการจัดการทรัพยากรมนุษย์ และงบประมาณที่มาสนับสนุนบริการ คู่มือที่เพิ่งออกมาใหม่ มีวัตถุประสงค์ในการปิดช่องว่างด้านศักยภาพ ด้วยการนำบุคคลที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วย

ความท้าทายที่สองคือมุมมองผิดๆ และการตีตราผู้สูญเสียการได้ยินและผู้ที่มีโรคหู เช่น ความเชื่อที่ว่าการสูญเสียการได้ยินเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในวัยชรา และความเข้าใจผิดว่าเครื่องช่วยฟังไม่สามารถแก้ปัญหาการได้ยิน หรือมีราคาแพงเกินไป ความเชื่อเหล่านี้จำกัดการพัฒนาบริการด้านหูและการได้ยิน

“ความเชื่อผิดๆ ที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ มักทำให้ผู้ป่วยไม่เสาะหาบริการ แม้ว่าบริการเหล่านี้จะมีอยู่แล้วในระบบสุขภาพ” พญ.เชลลี ชาดฮา (Shelly Chadha) ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลหูและการได้ยินประจำองค์การอนามัยโลก กล่าว

“การพัฒนาบริการด้านนี้ จึงต้องทำควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ในสังคม ลดการตีตราผู้ป่วย” เธอระบุ

ความเข้าใจผิดยังพบในกลุ่มผู้ให้บริการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งมักคิดว่าบริการด้านหูและการได้ยินจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือยากเกินกว่าที่จะให้บริการในระดับปฐมภูมิ ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในการคัดกรองและรักษาโรค แม้บางอาการสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับการให้บริการด้านหูและการได้ยิน เป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มความเข้าถึงบริการ และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูญเสียการได้ยิน

องค์การอนามัยโลกจึงเผยแพร่ข้อมูลและแนวทางเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ในสาธารณชน ทั้งยังทำชุดข้อมูลสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ให้หลักการและทิศทางจัดบริการด้านหูและการได้ยินในระดับปฐมภูมิ

อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลในการสนับสนุนบริการผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทำบริการระดับชุมชนเพื่อเพิ่มการเข้าถึง สร้างการตระหนักรู้ และลดการตีตราผู้มีปัญหาการได้ยิน
ผู้ให้บริการด้านสุขภาพต้องให้ความสนใจผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน พร้อมจัดบริการให้ทั่วถึง ขณะที่ภาคประชาสังคม ผู้ปกครอง ครู และแพทย์ สามารถใช้คู่มือและแนวทางที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของการดูแลหูและการได้ยิน


อ้างอิง: https://www.who.int/news/item/01-03-2024-who-issues-guidance-to-improve-access-to-hearing-care-in-low--and-middle-income-settings