องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาระบุเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 ว่าได้มีการเปิดตัวเครือข่ายห้องปฏิบัติการใหม่สำหรับการค้นคว้าวิจัยไวรัสโคโรนา ชื่อว่า 'CoViNet' เพื่อให้เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการที่มีผู้เชี่ยวชาญ และมีขีดความสามารถระดับโลกในกาตรวจหา ติดตาม ประเมินไวรัส SARS-CoV-2 รวมไปถึงไวรัส MERS-CoV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเมอร์ส และโรคทีเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงติดตามไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
สำหรับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ CoViNet เกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่ง WHO จัดตั้งขึ้นเพื่อพุ่งไปที่การวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19 กระทั่งมาถึงปัจจุบันที่มีการจัดการกับไวรัสตัวนี้ได้แล้วในวงกว้างทั่วโลก แต่สำหรับโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคเมอร์ส ยังค้นพบว่ามีการระบาดอยู่
ในส่วนของห้องปฏิบัติการที่เป็นเครือข่าย CoViNet ซึ่งมีอยู่ 36 แห่งจาก 21 ประเทศใน 6 ภูมิภาคทั่วโลกของ WHO ได้สรุปแผนปฏิบัติการร่วมกันในที่ประชุม WHO ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 26-27 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะเผยแพร่แผนปฏิบัติการสำหรับปี 2567-2568 ไปยังประเทศสมาชิกของ WHO เพื่อให้พร้อมในการค้นคว้า ตรวจหา และประเมินความเสี่ยงของไวรัสในตระกูลดังกล่าว เพื่อให้มีการตอบสนองอย่างเร่งด่วนกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น
ทั้งนี้ WHO แถลงด้วยว่า ความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการจากทั่วโลก เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ ที่มาพร้อมกับการกลายพันธุ์ของไวรัส เพื่อให้เป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายในการป้องกันสุขภาพของผู้คนทั่วโลก
ดร.มาเรีย แวน เคอร์โคฟ (Dr.Maria Van Kerkhove) รักษาการผู้อำนวยการแผนกระบาดวิทยา และการป้องกันโรคระบาด WHO กล่าวว่า ไวรัสโคโรนา แสดงให้คนทั้งโลกได้เห็นแล้วว่าการแพร่ระบาดนั้นอันตราย และส่งผลรุนแรงเพียงใดจากเหตุการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ดังนั้นเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วโลกจึงมาร่วมกันทำงาน และทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในระดับสูง เพื่อให้อนาคตเราจะสามารถตรวจหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อันจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อที่พวกเราจะได้มีแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที
อ้างอิง: https://www.who.int/news/item/27-03-2024-who-launches-covinet--a-global-network-for-coronaviruses
- 72 views