ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงถกที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายฯ รองรับสังคมสูงวัยอย่างมีส่วนร่วม หนุนเสริมนโยบาย ‘สถานชีวาภิบาล-กุฏิชีวาภิบาล’ ของรัฐบาล พร้อมไฟเขียว 3 ระเบียบวาระ ‘สุขภาพจิต-จัดการน้ำ-ส่งเสริมการมีบุตร’ เข้าสู่การแสวงหาฉันทมติในงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 16


เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุม คสช. ครั้งที่ 6/2566 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย “การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยใช้พื้นฐานจากการดูแลประคับประคอง (Palliative Care) ที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในการหนุนเสริมนโยบายการจัดตั้ง ‘สถานชีวาภิบาล’ ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และให้ความเห็นชอบร่างเอกสาร “การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ซึ่งเตรียมใช้ประกอบการจัดทำ (ร่าง) วาระแห่งชาติ ประเด็นส่งเสริมการมีบุตร เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

4

นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า ประเทศไทยในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็พบว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นในบางกรณีเป็นการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ (Medical Futility) ต่อผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีผลให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกข์ทรมาน และยังเป็นการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อระบบบริการสาธารณสุขโดยรวม 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้พัฒนายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านการรักษาแบบประคับประคอง ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. การมีนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ 2. การเข้าถึงยาที่จำเป็น 3. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพ และ 4. การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน โดยประเทศไทยมีการจัดทำแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ซึ่ง คสช. ได้ให้ความเห็นชอบเป็นทิศทางการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองและการแสดงเจตนาไม่รับการรักษาพยาบาลในระยะสุดท้ายของชีวิต ตลอดจนขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการการจัดทำนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตด้วย

4

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ให้สิทธิทุกคนสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ (Living Will) ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิเลือกตายอย่างสงบตามธรรมชาติโดยปราศจากการเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งการใช้สิทธิตามมาตรา 12 นี้ ผู้ป่วย ครอบครัว และแพทย์ จำเป็นต้องวางแผนร่วมกันในการจัดการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความสะดวกสบาย และพ้นจากความทรมานมากที่สุด

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทุกวันนี้ทั่วโลกเห็นตรงกันไปในทิศทางเดียวกันว่า การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยพื้นฐานการดูแลแบบประคับประคองเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ยังช่วยในเรื่องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนและภาครัฐ

“มติ คสช.ในวันนี้ สอดคล้องและหนุนเสริมนโยบาย 30 บาทพลัส ที่เป็น Quick win ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมีการจัดตั้ง ‘สถานชีวาภิบาล’ ให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน/ติดเตียงผู้ป่วยระยะประคับประคอง จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขตสุขภาพละ 1 แห่ง และล่าสุด สธ.ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักนายกรัฐมนตรีพัฒนาการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ โดยมีเป้าหมายภายใน 3 ปี จะดำเนินจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลครบทุกจังหวัด เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายตามหลักพระธรรมวินัย ซึ่งมีพระคิลานุปัฏฐากดูแลแบบประคับประคอง ซึ่ง สช. เองมีภารกิจที่สอดรับตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่เข้ามาร่วมบูรณาการขับเคลื่อนไปด้วยเช่นกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

1

ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 ประจำปี 2565-2566 กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 โดยจะมีการพิจารณาเพื่อแสวงหาฉันทมติใน 3 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง 2. การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ 3. การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ

สำหรับระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ทั้ง 3 ระเบียบวาระ ยังคงอยู่ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ซึ่งมุ่งตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศต่อเนื่องจากสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 15 โดยเฉพาะมติเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการเกิดและการเติบโตที่มีคุณภาพ” ที่จะสร้างความตระหนักและโมเมนตัมครั้งใหญ่ในระดับชาติ ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วง 8 ปี หรือประมาณ 3,000 วันแรกของชีวิตด้วย

4

นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการพิจารณาระเบียบวาระแล้ว ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ได้รับเกียรติจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ รวมทั้งได้รับเกียรติจาก Ms.Saima Wazed ประธานมูลนิธิ Shuchona, ประเทศบังคลาเทศ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Institutionalizing Social participation for Health and Wellbeing” และยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับสุขภาวะเพื่อการพัฒนาประชากรทุกกลุ่มวัย’ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ด้วย

4

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้าย ในปีงบประมาณ 2566 สช. ได้สร้างความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา พัฒนาข้อเสนอการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย จนได้ออกมาเป็นแนวทางต่างๆ ทั้งการพัฒนาระบบการดูแลที่ใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน (Hospital Based) และชุมชนเป็นฐาน (Community Based) การผ่อนคลายข้อจำกัดด้านยา การพัฒนาในด้านการเงิน บุคลากร การสานพลังองค์กรนอกภาคสุขภาพ ตลอดจนความร่วมมือทางสังคม เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายอย่างเป็นองค์รวม โดยข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนตามบทบาทภารกิจต่อไป

อนึ่ง ในการประชุม คสช. วันเดียวกันนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันมีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นประธาน เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายโดยกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อให้เกิดนโยบายและการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งมีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามและจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน เพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ตามมาตรา 25 และ 27 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550