ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ร่วมนั่งหัวโต๊ะประชุม “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” นัดแรกปี 2567 ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 3 มติ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16” ระบบสุขภาวะทางจิต-กลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่-ส่งเสริมการพัฒนาประชากร เตรียมเสนอ ครม. รับทราบ มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ต่อไป


ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 มีมติรับทราบประกาศรายนาม คสช. ชุดที่ 5 พร้อมร่วมกันให้การต้อนรับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. ภายหลังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ปฏิบัติราชการแทนใน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และปฏิบัติหน้าที่แทนใน คสช. ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ควบคู่กับรายนาม คสช. ชุดที่ 5 ซึ่งได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566

1

สำหรับรายนามของ คสช. ชุดที่ 5 จะมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. เป็นรองประธาน มี รมว. ที่นายกรัฐมนตรีกำหนดเป็นกรรมการ รวม 5 คน ประกอบด้วย รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.มหาดไทย รมว.ศึกษาธิการ และยังมีกรรมการจากภาคส่วนที่สำคัญ อาทิ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมทั้งผู้แทนองค์กรภาคเอกชนจากเขตสุขภาพทั่วประเทศ ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดกระบวนการเพื่อให้ได้มารวมทั้งสิ้น 42 รายนาม

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้ให้ความเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 จำนวน 3 มติ ประกอบด้วย 1. ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง 2. การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ 3. การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมอบหมายให้ สช. เสนอมติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

4

1

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า รู้สึกมีความยินดีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มากำกับดูแลงานด้านสาธารณสุข รวมถึงคณะกรรมการชุดต่างๆ อีกหลายคณะที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือ คสช. ซึ่งเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายด้านสุขภาพของประเทศ ภายใต้องค์ประกอบของคณะกรรมการที่มาจากหลายภาคส่วน เพื่อให้มีส่วนร่วมตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมในการดำเนินงานด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและพื้นที่ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะ ซึ่งไปไกลกว่าแค่เรื่องสุขภาพ หรือมดหมอหยูกยา หากแต่มองในภาพกว้างทั้งมิติของร่ายกาย จิตใจ สังคม และปัญญา

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า บทบาทที่สำคัญของ คสช. คือการเสนอแนะหรือให้คำปรึกษาต่อ ครม. เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ รวมทั้งจัดหรือส่งเสริมให้มีกระบวนการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ บนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่แต่ละกระทรวงจะได้ร่วมส่งเสริม สนับสนุนให้นโยบายของทุกกระทรวงมีการขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยใช้การประชุม คสช. ในการให้ข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายที่ต้องบูรณาการงานร่วมกัน เช่น การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566 การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความหวังและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย การมีนโยบายรองรับสังคมสูงวัย และการลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นต้น

1

“ในเรื่องของนโยบายรองรับสังคมสูงวัยนั้น มีมิติสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และสุขภาพ บทบาทของ คสช. น่าจะได้ช่วยสนับสนุนนโยบายนี้ได้ ส่วนการขับเคลื่อนนโยบายลดโรคไม่ติดต่อ ที่ยังมีการบริโภคเกลือและโซเดียมมากเกินไป ส่งผลให้แนวโน้มโรคความดัน หัวใจและหลอดเลือด หรือโรคไต ล้วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทย ทั้งยังทำให้โรคเบาหวานเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่ผมก็มีความคาดหวังและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของ คสช.อย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนคนไทย” ประธาน คสช. กล่าว
 
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 พ.ศ. 2565-2566 กล่าวว่า ในส่วนของภาพรวมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 เป็นไปอย่างชื่นมื่น จากความร่วมไม้ร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 3,800 คน ทั้งการประชุม ณ สถานที่ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมีผู้รับชมกิจกรรมต่างๆ ในงานผ่านช่องทางออนไลน์อีกรวมกว่า 60,000 คน

4

4

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ในกระบวนการพิจารณาทั้ง 3 ระเบียบวาระ มีภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพร่วมพิจารณาและแสดงถ้อยแถลงขับเคลื่อนร่างมติ จำนวนทั้งสิ้น 57 ภาคีเครือข่าย ขณะเดียวกันภายในงานยังได้มีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และเสวนาประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอีกมากมาย โดยปีนี้ยังได้มีการส่งมอบงานให้กับ คจ.สช. ครั้งที่ 17-18 พ.ศ. 2567-2568 ซึ่งได้มีการประกาศประเด็นหลัก (Theme) ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ไว้คือ “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน”

4

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า คสช. นับเป็นกลไกการดำเนินงานระดับชาติ ที่มีองค์ประกอบมาจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคการเมือง/ราชการ ภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคประชาชน/สังคม พร้อมมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน เพื่อมีบทบาทหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการที่คำนึงถึงสุขภาวะของประชาชนที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา เป็นเรื่องสำคัญ

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีของการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คสช. ได้เป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่เชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนและทุกฝ่ายในสังคม เข้ามาทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่วมกัน พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไปแล้วมากมาย เช่น กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

4

 

4