ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนาถกปม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ หมอ-นักวิจัยชี้ไม่ช่วยเลิกบุหรี่มวน แต่ยิ่งทำลายปอด-สมองเด็กไทยเพราะเสพนิโคตินได้ไม่จำกัด แถมบริษัทบุหรี่ยังส่งคนล็อบบี้รัฐบาลขอให้ถูกกฎหมาย ด้านนักการตลาดเผยกลยุทธ์ใหม่ ทำแพ็กเก็จคล้ายของเล่น พ่อแม่ตกหลุมพรางเพราะดูไม่ออก แต่หากทำให้ติดได้ก็ขายได้ยาวเป็นสิบๆ ปี ด้าน สคบ.เผยกฎหมายดี แต่บังคับใช้ยังทำกันยาก


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 โดยภายในงานมีการเวทีสานเสวนา หัวข้อ “บุหรี่ไฟฟ้า มหันตภัยเงียบ ล่าเด็กเยาวชนไทย” โดยมีวิทยากรตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน เข้าร่วมเสวนา พร้อมภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

1

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแพทยเชี่ยวชาญด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทยประมาณปี 2550 และจากนั้นอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของคนไทยก็เพิ่มสูงขึ้น บุหรี่ไฟฟ้าได้สร้างอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะเป็นการส่งสารนิโคตินเข้าสู่ปอดโดยตรงอย่างรวดเร็วและปริมาณมากกว่าบุหรี่มวน อีกทั้งไอระเหยจากการเผาไหม้สารนิโคตินจะไม่ใช่ควันเหมือนกับบุหรี่หมวน แต่จะละเอียดกว่ามากและมีขนาดเล็กกว่าฝุ่นขนาด PM2.5 ซึ่งไอระเหยที่สูดเข้าไปในปอดจะเป็นโลหะหนักที่สะสม และก่อให้เกิดมะเร็ง 

นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัว ทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดน้อยลง โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ที่จะมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง และยังทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นในการปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งและนำไปสู่เส้นเลือด ตีบ แตก ตัน และทำให้เสียชีวิตในที่สุด 

4

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า สารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้ายังเข้าไปทำลายสมอง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ที่หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุ 14 ปี จะส่งผลให้มีอาการคิดช้า พูดช้า วิเคราะห์หรือแยกแยะไม่ได้ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มีภาวะซึมเศร้า พัฒนาการของสมองยังต่ำกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้สูบบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้าเลยถึง 4 เท่า

“สมองของเด็กจะพัฒนาได้ถึงอายุ 25 ปี แต่หากได้รับสารนิโคตินเข้าไปจากบุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่มวน สารเหล่านี้จะเข้าไปทำลายสมอง ทำให้การพัฒนาการมีปัญหา ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง และโรงเรียนจำเป็นต้องใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว 

4

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า จากการสำรวจในปี 2564 พบว่ามีประชาชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 7 หมื่นคน แต่ในปี 2565 ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นไปถึง 7 แสนคน และในจำนวนนี้ มีเด็กเยาวชนเป็นนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในทุกเพศ และทุกวัย 

ทั้งนี้ สาเหตุที่บุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักเพราะผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ รวมไปถึงมายาคติที่บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าพยายามให้ข้อมูลกับสังคมว่าไม่อันตราย และช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ แต่สิ่งที่อันตรายที่สุดคือบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า มีความพยายามที่จะแก้กฎหมายของแต่ละประเทศ ผ่านการกดดัน แทรกแซงหน่วยงานนิติบัญญัติ หน่วยงานราชการ เพื่อให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่มีหลักฐานอ้างอิงระบุแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน และไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่มวน แต่จะทำให้มาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน เพราะบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เสพสารนิโคตินเข้าไปในร่างกายมากกว่าบุหรี่มวน แต่หากสูบคู่กัน หรือ Dual user ก็จะเพิ่มอันตรายต่อร่างกายเป็น 2 เท่าตัว  

4

“สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องปกติ ผลิตภัณฑ์ก็ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ปกติ และกลุ่มธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ปกติ ภาคการเมืองต้องคงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และอย่าเปิดช่องให้มีการจัดจำหน่าย รวมถึงภาคีเครือข่ายทุกแห่งทุกที่ ต้องมีมาตรการร่วมกันเพื่อป้องกันเยาวชนของเรา” ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว  

ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ โครงการพัฒนาขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงคุณภาพ กล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ผลิตบุหรี่มวนมาก่อน หรือผลิตควบคู่กันไปด้วย โดยทั้งหมดจะใช้การตลาดที่หลากหลาย เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และเข้าหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยมีมายาคติที่ทำให้หลงเชื่อว่า สูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน และหากกลุ่มเด็กและเยาวชนติดบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ก็การันตีได้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะขายผลิตภัณฑ์ได้ต่อเนื่องระยะยาว เพราะเด็กกลุ่มนี้จะต้องสูบไปอีกอย่างน้อย 20-50 ปี 

นอกจากนี้ รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของบุหรี่ไฟฟ้า มีการออกแบบให้เหมือนกับของเล่น หรือคล้ายกับกล่องขนม ถ้วยผลไม้ หรือเครื่องเขียน หรือบางยี่ห้อทำเป็นรูปแบบคล้ายกล่องนม และมีที่สูบรูปลักษณ์คล้ายกับหลอดดูด ทำให้แยกไม่ออกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของเล่น หรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทำให้เป็นหลุมพรางของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าเป็นของเล่น หรือของอันตราย 

“พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ลูกๆ ถือเข้าบ้านคือของเล่น หรือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ามีพัฒนาการมาไกลมาก มีการพัฒนารูปลักษณ์จากแบบเดิมที่เป็นแท่งเหมือนบุหรี่ แต่ปัจจุบันมาในรูปแบบของเล่น มีสีสัน และดึงดูด ซึ่งเป้าหมายของบริษัทบุหรี่ก็คือเด็กและเยาวชน หากไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาจะทำรูปทรงผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดเด็กๆ ออกมาขายทำไม” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว 

ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือต้องพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงโรงเรียนสถานศึกษา จะต้องรู้เท่าทันการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้สังเกตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อเด็ก ซึ่งหากพบเจอก็ต้องระวังและตรวจสอบให้ละเอียดเป็นพิเศษ 

4

นายเลิศศักดิ์ รักธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า จากคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่ง สคบ. เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะถือเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภค และที่ผ่านมาทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการห้ามขาย และห้ามบริการบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้ากระจายออกไปจำนวนมาก และทำให้เข้าถึงได้ง่ายทั้งที่เป็นสินค้าผิดกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายยังเป็นปัญหา แม้ว่ากฎหมายจะห้ามไม่ให้ขายกับประชาชนอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่สภาพความเป็นจริงทุกร้านค้าขายให้กับทุกคน มากไปกว่านั้น ในหลายโรงเรียน มหาวิทยาลัย ยังมีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าตั้งอยู่ใกล้ระยะ 100 เมตรอีกจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 

“อย่างไรก็ตาม สคบ.ยังคงเดินหน้าจัดการบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป แต่การดำเนินการให้สำเร็จ สคบ. ทำลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย เพราะกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าครอบคลุมไปหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น” นายเลิศศักดิ์ กล่าว 

4

ขณะที่ รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าพยายามที่จะทำให้ถูกกฎหมาย และมีการให้ทุนสนับสนุนกลุ่มเครือข่าย รวมถึงนักวิจัยที่ทำงานวิจัยสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ออกมาตอบโต้กับสังคมที่ต่อต้าน 

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าคือการเคลื่อนไหวผ่านเครือข่ายหรือองค์กรบังหน้าให้ออกมาเคลื่อนไหว รวมไปถึงการล็อบบี้ผู้มีอำนาจ ผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ ซึ่งประเทศไทยก็เผชิญกับเรื่องนี้เช่นกัน 

4

รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดมีกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจและบริษัทบุหรี่ เข้ามาเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งขัดต่อกฎเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ระบุห้ามไม่ให้เครือข่ายบริษัทบุหรี่เข้ามาร่วมกำหนดนโยบาย เพราะกลุ่มเหล่านี้จะคำนึงถึงประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้ไม่เป็นกลางในการพิจารณากฎหมายที่มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ โดยที่ผ่านมาภาคประชาชนก็พยายามส่งหนังสือคัดค้านและขอให้พิจารณาการแต่งตั้ง กมธ. ชุดดังกล่าวใหม่ แต่ก็ยังไม่เป็นผล เพราะตัวแทนที่เชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่ยังคงเป็นกมธ.ในชุดนี้อยู่ 

“บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าทราบดีว่า บุหรี่มวนไม่เป็นที่นิยมและไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว และคนรุ่นใหม่แทบจะไม่สูบ บริษัทจึงต้องหาทางออก โดยคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่คือบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อทดแทน พร้อมกับโปรโมทเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก จึงมีความพยายามทำให้การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเอง ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ต้องรู้เท่าทัน และต้องร่วมกันช่วยตรวจสอบ เปิดโปงกลยุทธ์บริษัทบุหรี่ ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งการทำแคมเปญสื่อ หรือออกมาพูดในที่สาธารณะ” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวตอนท้าย