ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ก้าวต่อไปหลักประกันสุขภาพไทย ยั่งยืนหรือย่ำแย่” คืออีกหนึ่งหัวข้อของเวทีหารือที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2566 โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ได้เข้ามาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากมาย

นั่นเพราะระบบหลักประกันสุขภาพ คือพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม แต่ขณะเดียวกันข้อมูลความเห็นและเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ ก็จะคงมีบทบาทสำคัญในฐานะจิ๊กซอว์ที่จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เก็บเกี่ยว เพื่อนำไปพัฒนาการทำงานขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศต่อไปในอนาคต 

"The Coverage" ได้รวบรวมวรรคตอนสำคัญจากที่ประชุม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นในระบบหลักประกันสุขภาพว่าจะมีทิศทางเดินไปข้างหน้าอย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืน แต่ไม่ย่ำแย่

1

มีสิทธิแต่เข้าไม่ถึง รพ. ปัญหาคลาสสิคพื้นที่ห่างไกล

ไมตรี จงไกรจักร์  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะภาคประชาชนที่ทำงานขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะในพื้นที่ภาคใต้ เปิดประเด็นด้วยการให้ภาพถึงความยากลำบากของการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะกับผู้คนในพื้นที่ห่างไกล

เขาระบุว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพของ 'ผู้คนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ห่างไกลซ้ำซ้อน' จะถูกจำกัดความอีกแบบ นั่นคือการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ที่หมายถึงการเดินทางไปไม่ถึงโรงพยาบาล ด้วยสาเหตุสำคัญเพราะ ‘ไม่รู้จะไปอย่างไร’ และ ‘ไม่มีเงินไป’

"ยกตัวอย่างคนในเกาะหลีเป๊ะ หากไปหาหมอจะต้องมีค่าเรือไป-กลับรวม 1,200 บาท แล้วยังต้องเสียค่าโรงแรมนอน 1 คืน อีกประมาณ 600 บาท เพื่อที่ตอนเช้าจะได้ไปโรงพยาบาล เมื่อรักษาเสร็จแล้วก็ต้องรีบไปให้ทันเรือกลับเกาะเที่ยวสุดท้ายเวลาบ่ายสาม หากพลาดก็ต้องนอนโรงแรมต่ออีกคืน เบ็ดเสร็จผู้ป่วยจะต้องมีเงินเพื่อไปให้ถึงโรงพยาบาล 1,800-2,400 บาท หรืออีกตัวอย่างที่เกาะยาว หากเกิดเหตุฉุกเฉินกับประชาชนในเกาะ ก็ต้องมีค่าเรือวิ่งฉุกเฉินไปโรงพยาบาลประมาณ 6,000 บาท" ไมตรี ให้ภาพ

5

เขาให้ตัวอย่างอีกว่า ที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล หรือหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา จะมีเฮลิคอปเตอร์สแตนบายด์รอในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ส่งตัวนักท่องเที่ยวรวมถึงผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาทันที แต่เมื่อหมดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ก็จะไม่มีเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งหากชาวบ้านในเกาะเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน จะออกเรือไปหาแพทย์ที่ฝั่งก็ทำไม่ได้เพราะคลื่นลมแรง สุดท้ายอาจต้องนอนรอความตายบนเกาะ

"ทั้งที่การให้เฮลิคอปเตอร์มาคอยบริการก็มาจากภาษีพวกเรา ภาษีของประชาชน ผมว่าเราต้องดูแลคนไทยด้วย" ไมตรี แลกเปลี่ยนในที่ประชุม

เขายังเสริมด้วยว่า การเข้าไม่ถึงพื้นที่การบริการนั้นยังไม่ใช่ปัญหาเดียว แต่อีกปัญหาที่มีผลกระทบกับชาวประมงผู้ดำน้ำลึกหาปลาตามวิถี และส่วนใหญ่เจออุบัติเหตุน้ำหนีบ แต่เมื่อไปพบแพทย์จะถูกตีความว่าเป็นโรคน้ำหนีบ ไม่ใช่อุบัติเหตุ

"พอเป็นโรคก็ทำให้ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจรักษาเหมือนกับผู้ป่วย ต้องตรวจหาวินิจฉัย จึงอยากให้เปลี่ยนคำตีความจากโรคเป็นอุบัติเหตุ เพื่อให้รักษาได้ทันที เพราะมันคือเหตุการณ์อุบัติเหตุ ที่จะต้องได้รับการรักษา หรือรับการบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูง ที่ต้องปรับความดันได้ในทันที" ไมตรี สะท้อนความเห็น

1

คนไทยไม่ดูแลตัวเองและ 'ชอบร้องขอ'

วิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เป็นอีกหนึ่งตัวแทนที่ร่วมแลกเปลี่ยนอย่างน่าสนใจ โดยเธอระบุถึงมุมมองในฐานะประชาชนจิตอาสาที่ดูแลประชาชนด้วยกันในชุมชน มา 41 ปี พบว่าเรื่องเทคโนโลยีการส่งเสริมบริการสุขภาพเองมีการพัฒนาอยู่ตลอด ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ช่วยเหลือการทำงานอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ประธาน อสส. รายนี้เสนอคือการปรับแผนภูมิสุขภาพของทั้งประเทศใหม่ เพราะมาถึงวันนี้เธอมองว่ารัฐบาลจะต้องพลิกความคิดใหม่ ด้วยการเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนด้วยแคมเปญ ‘คำแรงๆ’ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการที่จะต้อง ‘ดูแลสุขภาพตนเอง’ ไม่ใช่ต้องรอคอยการช่วยเหลือจากแพทย์ พยาบาล หรือใครก็ตามเพียงอย่างเดียว

"หมอก็ไม่ใช่เทวดา รัฐบาล ข้าราชการก็ไม่ใช่เทพที่ไหนที่จะมาช่วยประชาชนได้ แต่คนเรียกร้องตลอดเวลาว่าต้องช่วยเหลือ ต้องจัดการสุขภาพให้ แต่ไม่เคยคิดจะจัดการสุขภาพของตัวเองเลย เรื่องนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะมนุษย์ทุกคนมีหน้าที่จัดการสุขภาพของตัวเอง กินอยู่อย่างไร หลับนอนอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ หากไม่จัดการ ไม่ทำให้ถูกต้อง ก็เจ็บป่วยเป็นโรค" วิศัลย์สิริ ระบุ

เธอเล่าว่าจากประสบการณ์การทำงานจิตอาสา ทำให้เห็นพฤติกรรมของประชาชนที่ไม่ตระหนักในการดูแลตัวเอง แต่มักจะไปมีเรื่องกับบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า และเป็นการสร้างปัญหาทางจิตใจของคนไทยโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มากของสังคม

"อย่างพวกเรา อสส. ทำงานกับ สปสช. และหน่วยบริการ เราเห็นเลยว่าพวกเขาทำงานหนักมาก พยายามและทำทุกอย่างที่จะหาการดูแลที่ดีที่สุดให้กับประชาชน พวกเราจิตอาสาเห็นใจมาก ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วที่ต้องใช้คำแรงๆ กับคนไทย ให้ลุกขึ้นมาจัดการกับสุขภาพตัวเองในเบื้องต้นได้แล้ว" วิศัลย์สิริ ยืนยัน

4

งานส่งเสริมสุขภาพ พูดง่าย แต่ทำไม่ง่าย

ภายหลังการรับฟังเสียงสะท้อนจากบทบาทของภาคประชาชน นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาที่ภาคประชาชนหยิบยกขึ้นมาสะท้อนจากพื้นที่เหล่านี้ มองว่าเป็นความท้าทายมาถึงภาพใหญ่ของประเทศ ที่ต้องเข้าไปร่วมกันแก้ปัญหาระบบสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพ

นพ.ฉันชาย ชี้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับประชาชนในพื้นที่ ก็เป็นอีกความท้าทายในระบบบริการ ที่จะต้องมีการกระจายไปตามความจำเป็นที่ประชาชนต้องใช้

"อย่างเช่นโรคน้ำหนีบ หรืออุบัติเหตุน้ำหนีบ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไม่มีห้องออกซิเจนแรงดันสูง เพราะอาจไม่จำเป็นต้องใช้ เนื่องจากประชาชนในเมืองไม่ได้มีโอกาส แต่อย่างในพื้นที่ที่มีประชาชนชาวประมง พวกเขามีโอกาสได้ใช้ และต้องได้ใช้หากจำเป็น จึงเป็นโจทย์สำคัญของพวกเราที่ต้องมาช่วยกันจัดการ" นพ.ฉันชาย ให้มุมมอง

4

อีกความเห็นของ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) แลกเปลี่ยนว่า แม้ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะอยากทำงานเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเองของประชาชน การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้มากขึ้น หากแต่อาจมีข้อจำกัดอยู่ที่งบประมาณ

นพ.สุวิทย์ ระบุว่า งบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะพุ่งเป้าไปที่งานบริการของหน่วยบริการ แต่ก็ยังใช้ไม่หมด ส่วนงบประมาณที่ร่วมกับท้องถิ่น หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ก็ใช้ไม่หมดเช่นกัน หรืออย่างที่ กทม. ก็ไม่ได้เงินจาก สปสช. มาประมาณ 2 ปีแล้ว เพราะใช้งบระมาณที่เคยให้ไปไม่ถึงครึ่ง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ รวมถึงยาตัวใหม่ที่ใช้รักษาโรค ซึ่งพุ่งเป้ามาที่การรักษาเพื่อยืดชีวิตออกไป แม้ว่าจะสร้างความทรมานก็ตาม หากในอนาคตต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้มากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวต่อระบบหลักประกันสุขภาพ

"การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค พูดได้ แต่เวลาทำอาจไม่ง่าย แต่เราก็ต้องพูดกันต่อไป และทำต่อไป เพราะหากไม่ทำและจัดการต่อ อนาคตระบบหลักประกันสุขภาพอาจย่ำแย่" นพ.สุวิทย์ ย้ำ

พร้อมกันนี้เขายังเห็นด้วยถึงประเด็นการเข้าไม่ถึงสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ สปสช. อาจเข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะสามารถจ่ายชดเชยค่ายานพาหนะตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่อาจต้องพิจารณาเฉพาะกรณี หรืออาจจะร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อให้มาร่วมกันออกแบบการส่งต่อผู้ป่วย

1

ว่าที่ ผอ. ‘WHO SEARO’ ร่วมรับฟัง-แนะแนวทางยั่งยืน

ตลอดวงประชุมระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมง มีอีกหนึ่งผู้ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมรับฟังถึงแนวทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยอย่างใจจดใจจ่อ นั่นคือ ไซม่า วาเซด ประธานมูลนิธิ Shuchona ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเธอยังเป็นว่าที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO)

ในช่วงท้าย ไซม่า ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและสะท้อนความเห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคของเราได้ก้าวมาถึงเรื่องของคุณภาพการให้บริการรักษาตามเป้าหมายได้แล้ว แต่ในส่วนการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพ ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญในอนาคต ซึ่งแนวทางการลดต้นทุนด้านเวชภัณฑ์ ยาที่ใช้ประจำ อาจเป็นแนวทางที่ช่วยให้ระบบมีความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน การกระตุ้นหน่วยบริการ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้ขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค อาจเพิ่มแรงจูงใจด้วยการให้รางวัล หรือการเสริมพลังทางบวกที่เป็นแรงขับเคลื่อนงานด้านนี้ให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน และลดผู้ป่วยที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา

"อนาคตเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบหลักประกัน ไม่อาจปฏิเสธว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนอย่างมาก แต่พวกเราควรต้องพุ่งเป้าใช้เทคโนโลยีมายังการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมไปถึงส่งเสริมให้ อสม. และ อสส. ที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถใช้เทคโนโลยีในงานคัดกรองสุขภาพได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการตอบโจทย์ความท้าทายของการทำให้ระบบหลักประกันมีความยั่งยืนและมั่นคง" เธอให้ความเห็นทิ้งท้าย