ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอฉันชาย’ ย้ำ เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงคุ้มค่าหากทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ เผย รพ.จุฬาฯ จับมือ สปสช. คัดกรองผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง ด้านที่ปรึกษาสมาคม รพ.เอกชนระบุ ต้องสร้างความยั่งยืนให้ระบบด้วยการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกัน ขณะที่ กรรมการ บอร์ด สปสช. ชี้อนาคตของของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นอยู่กับรัฐบาลและ สปสช. บริหารจัดการ  


เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการจัดประชุมวิชาการระดับชาติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมด้วยมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมจัดการประชุมข้างเคียง (Side meeting) ในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 หัวข้อ "ก้าวต่อไปหลักประกันสุขภาพไทย ยั่งยืนหรือย่ำแย่" ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ 

1

โดยมีสมาชิกสมัชชาสุขภาพจากหลายภาคีเครือข่ายที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุม รวมถึงบุคคลสำคัญจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ Ms. Saima Wazed (ไซมา วาเซด) ประธานมูลนิธิ Shuchona ประเทศบังกลาเทศ และในฐานะว่าที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และอดีต รมว.สาธารณสุข ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 

ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และในฐานะกรรมการและเลขานุการร่วมจัดประชุมวิชาการระดับชาติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมระดับชาติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเทศไทย ซึ่งมีนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนเข้าร่วมพูดคุยถึงประเด็นในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมกับมีแถลงการณ์ 12 ข้อเพื่อให้มีการดำเนินการทันที (Call for action) ร่วมกัน 

1

ทั้งนี้ การจัดประชุมข้างเคียงในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 จึงเป็นการนำประเด็นจากที่ประชุมระดับชาติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม และนำไปต่อยอดปรับปรุงในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในภาพรวมของประเทศ 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยช่วยทำให้มีการดูแลรักษาผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ความท้าทายในอนาคตคือความยั่งยืนในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และได้เป็นผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้นจริงๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ในหลายโรงเรียนแพทย์ และยังเป็นสถานพยาบาลระดับตติยภูมิ จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมกับบริบทการบริการรักษาผู้ป่วยในประเทศที่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะส่งผลต่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาล หากว่าเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการวิจัยและพบว่ามีความคุ้มค่าทั้งต่อประชาชน และการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว แม้ว่าเทคโนโลยีนั้นอาจมีราคาแพงก็ตาม 

“หากเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความคุ้มค่าและมีความจำเป็นในการช่วยดูแลสุขภาพของคนไทย รวมถึงช่วยในการส่งเสริมป้องกันโรคก็ต้องนำเข้ามาและต้องวางระบบเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันขบคิด” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าว 

4

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า สำหรับอนาคตโรงเรียนแพทย์เองต้องปรับตัวในการสอนนักศึกษาแพทย์เพื่อให้ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และตรงกับเป้าหมายการใช้ประโยชน์คือประชาชน ไม่ใช่เทคโนโลยีที่มีไว้เพื่อการอื่น หรือประโยชน์อื่นใด อีกทั้งบทบาทของโรงเรียนแพทย์ที่มีเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ นวัตกรรมการแพทย์ระดับสูงก็อาจต้องปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีนั้นกับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ซึ่งขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงส่งต่อมายังมีโรงพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้ได้ใช้เทคโนโลยีนั้นในการรักษาตัว โดย สปสช. จะจ่ายค่ารักษาตามสิทธิให้ 

“เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่เราอยากผลักดันให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้น ในเมื่อโรงเรียนแพทย์มีเทคโนโลยี สปสช. ก็มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ต้องการรักษาอย่างเร่งด่วนตามสิทธิประโยชน์ ก็จะส่งต่อมารักษา และโรงเรียนแพทย์ก็จะเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช. แต่ประเด็นสำคัญ คือจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีที่ว่านี้เข้าไปถึงคนจำนวนมากได้ ก็อาจเป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพิจารณา” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว 

4

ด้าน นพ.สุรพล โล่ห์สิริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต จะต้องคำนึงว่า ปัจจุบันมีการส่งเสริมป้องกันโรคที่ดีแล้วหรือยัง เพราะหากมีการส่งเสริมป้องกันโรคได้ดี ก็จะส่งผลให้ประชาชนไม่เป็นโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยลดลงและไม่มีผู้ป่วยหน้าใหม่ ก็จะส่งผลดีต่อทั้งระบบบริการสุขภาพและการจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งจะเป็นความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพได้

นอกจากนี้ หากเป็นไปได้อยากให้มีคณะกรรมการส่งเสริมป้องกันโรค เหมือนกับที่มีคณะกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพ เพื่อมาทำงานและวางแผนการส่งเสริมป้องกันโรคโดยเฉพาะ 

นพ.สุรพล กล่าวเสริมอีกว่า การสร้างองค์ความรู้ให้กับภาคประชาชนก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่การสร้างองค์ความรู้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ภาครัฐ อาจต้องสร้างระบบ หรือกลไกที่ให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้ โดยเฉพาะกับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ดูแลตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยทั้งระบบสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ให้บริการที่ภาระงานจะลดลง 

ขณะที่ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช กรรมการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชนทุกคน และมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมและเพียงพอ แต่ด้วยปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ที่จะมีจำนวนคนสูงวัยเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่ยังป่วยด้วยโรค NCD ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย ในอนาคตก็อาจมีผลกระทบต่อการจัดงบประมาณเพื่อดูแลประชาชนได้เช่นกัน ทั้งนี้เมื่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น งบประมาณก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ที่ผ่านมาเราพบว่าหลายพื้นที่ใช้งบประมาณส่วนนี้ไม่หมด หรืออาจติดขัดกระบวนการต่างๆ ในการนำงบประมาณไปขับเคลื่อนส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาจัดสรรงบประมาณได้ 

4

“ในระยะยาว หากว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่เงินไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเพราะที่ผ่านมาเราใช้เงินส่วนนี้ไม่คุ้มค่า ก็อาจทำให้การดูแลผู้ป่วยไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง” ภก.ปรีชา กล่าว 

ภก.ปรีชา กล่าวอีกว่า ในเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเชื่อมโยงมายังหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ และอาจบอกได้ว่าจะมีความยั่งยืนได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของทั้งรัฐบาลและ สปสช. ด้วยเช่นกันที่จะบริหารจัดการอย่างไรสำหรับอนาคต รวมถึงการจัดสรรงบประมาณกรณีที่เกิดโรคอุบัติใหม่ที่ต้องไม่กระทบการงานด้านอื่นๆ เหมือนกับเหตุการณ์โควิด -19 ที่งานส่วนอื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบเพราะงบประมาณถูกเกลี่ยไปจัดการโรคอุบัติใหม่ก่อน 

“ตอนนี้อาจยังตอบไม่ได้ว่าหลักประกันสุขภาพจะยั่งยืนหรือย่ำแย่ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลและความคิดเห็นจากการระดมสมองที่พวกเรามาแลกเปลี่ยนกันจะช่วยพัฒนาระบบให้ยอดเยี่ยมตามจังหวะการก้าวเดินได้แน่นอน” ภก.ปรีชา กล่าวในตอนท้าย