ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบหนุนขับเคลื่อน “สถานชีวาภิบาล”  วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด องค์กรภาคประชาชน เนอร์สซิ่งโฮม หรือองค์กรภาคประชาชน ที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อด้านชีวาภิบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ “ข้อเสนอการกําหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสถานชีวาภิบาลของรัฐบาล

1

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างข้อเสนอฯ ดังกล่าว คือการกำหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล” หรือ หน่วยชีวาภิบาล ที่ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ได้ เช่น หน่วยบริการของรัฐที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย องค์กรศาสนา เช่น วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด หรือองค์กรเอกชนที่ดำเนินการในด้านนี้ เช่น ชุมชนกรุณา (peaceful death) ชีวามิตร เยือนเย็น เครือข่ายมิตรภาพบําบัด ชมรมผู้ป่วย หรือเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ รวมทั้ง สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (nursing home) เป็นต้น หน่วยบริการเหล่านี้สามารถจัดบริการได้ทั้งการมีสถานที่ให้ผู้ป่วยพักค้าง เช่น หอผู้ป่วยในหน่วยบริการหรือในศาสนสถาน รวมทั้งการออกไปให้บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชน

4

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า หน่วยงานหรือองค์กรที่จะสมัครเข้าเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จะต้องมีคุณสมบัติ โครงสร้าง และมาตรฐานบริการตามที่กำหนดและได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือ องค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคล ที่ สปสช. รับรอง มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ และได้รับรองสมรรถนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือ มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริการหรือกิจกรรมที่จัดบริการจากกรมอนามัย

“ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการให้บริการได้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทก่อน อย่างไรก็ดีหลังจากที่งบประมาณปี 2567 ที่เริ่มมีเบิกจ่าย ก็จะขยายให้ครอบคลุมไปยังประชาชนสิทธิอื่นๆ ต่อไป โดยรัฐบาลมีนโยบายตั้งเป้าหมายให้มีสถานชีวาภิบาลอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อให้เกิดความครอบคลุมการดูแลทุกพื้นที่ โดยจะมีการทำ MOU กับองค์กรด้านศาสนาเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2567 ที่จะถึงนี้” นพ.ชลน่าน กล่าว

4

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บอร์ด สปสช. ให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยมอบให้ สปสช. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสถานชีวาภิบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick win 100 วัน ด้านสาธารณสุขของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) พร้อมให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยภายใต้สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 และบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบในวันนี้

หลังจากนี้สถานชีวาภิบาลที่ดำเนินการโดยองค์กรพระพุทธศาสนาและองค์กรศาสนาอื่น, สถานชีวาภิบาลที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ที่ไม่แสวงหากำไร, สถานชีวาภิบาลในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถานชีวาภิบาลเอกชน ได้แก่ สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการให้บริการ ก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 3 ในระบบบัตรทองได้ โดย สปสช. จะมีการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินการต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว