ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย และอธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความท้าทายการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพในยุคใหม่” ในการประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 23 Synergy for Safety and Well-being ผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา

พัฒนาระบบป้องกันฯ การติดเชื้อ (IPC)

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในหัวข้อ “การควบคุมการป้องกันการติดเชื้อเพื่อความปลอดภัยในระบบสุขภาพประเทศไทย” โดยระบุว่า ในเรื่องการพัฒนาระบบการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (IPC) กรมควบคุมโรคได้พัฒนาระบบ surveillance ติดตามสถานการณ์โดยรวม โดยมีสถานพยาบาลต่างๆ ช่วยส่งข้อมูลให้ อย่างไรก็ดี จำนวนข้อมูลที่ส่งเข้ามายังมีน้อยมาก ดังนั้นอยากฝากสถานพยาบาลปรับปรุงการส่งข้อมูลเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ทราบสถานการณ์จริง

ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนาองค์ความรู้ โดยเฉพาะหลักสูตรเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อและการป้องกันการติดเชื้อ การวิจัยพัฒนา การจัดสัมมนาระดับชาติด้านการป้องกันการติดเชื้อเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดจนการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการประเมินระบบการป้องกันควบคุมโรคจากมุมมองภายนอก เพื่อนำข้อมูลกลับมาพัฒนาระบบต่างๆ ต่อไป

นพ.ธเรศ กล่าวต่อไปว่า หลังจากโควิด-19 ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ย้อนกลับมาพัฒนาระบบ IPC ในสถานพยาบาล ซึ่งทิศทางในอนาคตของงาน IPC จุดที่ให้ความสำคัญคือ จุดคัดกรองโดยเฉพาะระบบการคัดแยกผู้ป่วย จุดคัดกรองควรอยู่ด้านหน้าสถานพยาบาล ต่อมาคือ ARI คลินิกและห้องแยกโรคที่สถานพยาบาลทุกแห่งควรมีเพื่อแยกกลุ่มโรคติดต่อออกจากผู้ป่วยทั่วไป และขณะนี้โควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว แต่ ARI คลินิกและห้องแยกโรคก็ยังควรคงไว้เพราะยังมีประโยชน์กับหลายโรค เช่น วัณโรค เป็นต้น

“อีกเรื่องคือห้องความดันลบ ในมุมมองของ IPC ห้องความดันลบมีความสำคัญและควรมีไว้ เพื่อช่วยลดในเรื่องการแพร่กระจายเชื้อโรคติดต่อ รวมทั้งการจัดระบบถ่ายเทอากาศ ต่อไปไม่ว่าจะเป็นห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วย ห้องทันตกรรม ฯลฯ จะต้องให้ความสำคัญการระบบถ่ายเทอากาศเพื่อการป้องการการติดเชื้อ”นพ.ธเรศ กล่าว

2

Well Elderly Clinic บูม

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในประเด็นเรื่องเส้นทางสู่การพัฒนาคุณภาพบริการการแพทย์และสุขภาพเพื่อประชาชน โดยระบุว่า แนวโน้มของสถานการณ์สุขภาพในอนาคตคือการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ ต่อไป Well Baby Clinic อาจมีน้อยลง ส่วน Well Elderly Clinic จะขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

นพ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า หลักการของ Elderly Clinic คือไม่ได้หาโรคแต่หาความเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งจะต้องมีเกณฑ์มาตรฐานของร่างกายผู้สูงอายุในแต่ละช่วงวัยที่ชัดเจนเช่นเดียวกับมาตรฐานพัฒนาการเด็ก เพื่อตรวจเช็คว่าผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยเกินมาตรฐานหรือไม่ หลักๆ คือการวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทดสอบความจำ หากต่ำกว่าเกณฑ์อาจมี intervention บางอย่างเข้าไปเพื่อชะลอความเสื่อมถอยของร่างกาย เช่น ส่งเสริมกิจกรรมการเล่นหมากรุก การออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งหากมีบริการลักษณะนี้เกิดขึ้น จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้นมาก

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า แนวโน้มอีกประการที่จะเกิดในอนาคตคือเรื่อง digital transformation ต่อไปบริการทางการแพทย์ต่างๆ จะลงมาอยู่ในมือถือมากขึ้น มี Virtue Clinic พบแพทย์ออนไลน์ได้ หรืออาจมีบริการ Tele-medicine สำหรับผู้ป่วยนอก เช่นเดียวกับนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น AI และ robot ที่สามารถช่วยในเรื่องการแพทย์ได้หลายอย่างมากขึ้น มีเรื่อง precision medicine และเทคโนโลยีพันธุกรรมต่างๆ เพื่อชะลอความเสื่อม ก็เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน

สุดท้ายคือการปรับทิศทางการดูแลไปสู่ Home ward เพื่อลดความแออัดหรือลดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล เช่น การผ่าตัดแผลเล็ก การผ่าตัดวันเดียว แม้แต่การทำ Home Isolation ต่างๆที่แม้จะหมดจากโควิด-19 แล้ว จะทำอย่างไรให้พัฒนาบริการนี้ไปสู่ Home ward

3

สร้างกำลังคนด้าน Lifestyle Medicine

ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อภิปรายในประเด็นจุดเน้นการส่งเสริมสุขภาพและระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาชนสุขภาพดี โดยระบุว่า แม้จะมีการจัดระบบบริการทางการแพทย์ดีอย่างไร แต่ชีวิตคนเราไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล แต่อยู่ในสังคม ดังนั้นการจัดการสุขภาพด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ของคนเรามาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมองมุมนี้เรื่องสุขภาพก็จะมีขอบเขตที่กว้างขึ้นเป็นสุขภาวะ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แนวทางหนึ่งที่เริ่มมีการนำมาประยุกต์ใช้ในหลายประเทศแล้ว คือเรื่องของ Lifestyle Medicine เป็นเครื่องมือบูรณาการในเรื่อง Well-being ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนและสังคมโดยรวม โดยสิ่งที่กรมอนามัยกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือการพัฒนาสร้างกำลังคนด้าน Lifestyle Medicine มีการรับรองหลักสูตรสำหรับแพทย์ รวมทั้งหารือกับสภาวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ เพื่อสร้างกำลังคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ต่อมาคือการสร้างพื้นที่การทำงานให้ทีม Lifestyle Medicine และการขับเคลื่อนให้ประเด็นนี้เข้าสู่แผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนการสร้างความรับรู้แก่ประชาชนในการจัดการสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้สนับสนุน

3

V care ยุติความรุนแรง

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอภิปรายในประเด็นเรื่อง Ways to Maintain Positive Mental and Well-being โดยชี้ว่า There is no health without mental health ซึ่งในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตส่งสัญญาณมาตลอดว่าแม้การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย แต่ปัญหาสุขภาพจิตไม่จบ เช่นเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจไม่จบ ปัญหาสังคมไม่จบ ปลายทางที่จะเกิดคือปัญหาความรุนแรงในสังคม

“เรื่องของ People Safety และ Well-being กรมสุขภาพจิตมีเครื่องมือในการค้นหาคัดกรอง ในส่วนของ People เราไม่ทราบเลยว่าคนที่เดินไปมาในชุมชน มีใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงบ้าง เครื่องมือในการค้นหาเรียกว่า V scan สรุปสั้นๆ คือ เดินไปเดินมา ไม่หลับไม่นอน พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง เหล่านี้คือสัญญาณของการก่อความรุนแรง หากพบเจอคนที่มีลักษณะดังกล่าว ก็มีเครื่องมือที่เรียกว่า V care คือการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือและรักษา โดยรายละเอียดเหล่านี้กรมสุขภาพจิตจะจัดทำไดก์ไลน์เผนแพร่ในเร็วๆ นี้”พญ.อัมพร

นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของ Personal จากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตของบุคลากรสาธารณสุข พบว่าบุคลากรสาธารณสุขมีสภาพความเครียดอยู่ที่ 6.28% ความเสี่ยงต่ออาการซึงเศร้าอยู่ที่ 8.85% ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 3.09% และความเสี่ยงต่อการหมดไฟในการทำงานอยู่ที่ 11.06% ซึ่งข้อมูลนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารต้องให้ความสนใจและเข้าไปดูแลภาวะความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต