ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘Digital Transformation’ หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงาน นับว่าเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก ที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ และยังทำให้ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขสามารถเห็นข้อมูลสุขภาพชุดเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

“The Coverage” ขอพาย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับภาคเครือข่ายจัดตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล” เพื่อจัดทำนโยบาย แผนงาน มาตรการเพื่อส่งเสริม และพัฒนาสุขภาพด้านดิจิทัล ตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำให้แต่ละประเทศพัฒนาระบบดิจิทัลสุขภาพ 

นำมาสู่การจัดทำโครงการ ‘พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข’ ของประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ทุกระดับให้เป็นระบบเดียวกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สังกัด สธ. ที่จะสามารถใช้ระบบ Hospital Information System (HIS) บนคลาวด์กลางในการส่งต่อข้อมูลตามมาตรฐานข้อมูลปฐมภูมิ และคลังข้อมูล สธ. ได้ 

สำหรับการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข ถือเป็นการสานต่อนโยบาย ‘Cloud First Policy’ ที่เน้นใช้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ยกระดับการทำงานของหน่วยงานรัฐด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลหรือถูกโจรกรรม และมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล ISO 27001

มากไปกว่านั้นยังสอดรับนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ที่ต้องอาศัยการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลในทุกหน่วยบริการ ที่สำคัญต้องมีการคุ้มครองข้อมูลประชาชน ภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วย

‘คลาวด์กลางด้านสาธารณสุข’ จุดเชื่อมโยงหน่วยบริการ 

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวภายในงานเปิดโครงการ “พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 โดยได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ไว้ว่า การพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยนั้น สอดคล้องกับนโยบายแผนระดับชาติที่ว่าด้วยเรื่อง ‘การพัฒนาระบบดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม’ ในปี พ.ศ. 2561-2580 ในฉบับปรับปรุงระยะที่ 3 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่องการสร้างคุณภาพเทคโนโลยีที่ทั่วถึงและเท่าเทียม ที่สำคัญยังสอดรับกับยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง ‘การปรับเปลี่ยนภาครัฐ สู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล’ อีกด้วย

“โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการตั้งระบบสารสนเทศ ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 807 แห่ง และ รพ.สต. จำนวน 4,507 แห่ง รวมถึงการพัฒนาระบบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางเพื่อรองรับสถานพยาบาลนอกสังกัดอีกด้วย” นายภุชพงค์ กล่าว

‘3 เครื่องยนต์’ ฟันเฟืองพัฒนา ‘ดิจิทัล’ ขับเคลื่อนประเทศ

มากไปกว่านั้น แม้การพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขจะมีจุดเริ่มต้นที่พัฒนาต่อยอดมาจากข้อสั่งการของฝ่ายการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสอดรับกับวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศอย่าง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง อีกด้วย 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอีเอส อธิบายถึงนโยบาย ‘เครื่องยนต์ขนาดเล็ก’ ในการขับเคลื่อนประเทศโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ในงาน ‘IGNITE THAILAND’ ถึงการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและสาธารณสุข เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายที่ว่านั้นประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ขนาดเล็กจำนวน 3 ชิ้นที่มีความสำคัญ

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. เพิ่มขีดความสามารถ สร้างข้อได้เปรียบการแข่งขัน สร้างโอกาส ศักยภาพขั้นพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาโทรคมนาคม เครือข่ายยกระดับ ‘คุณภาพชีวิต’ ประชาชน รวมถึงสร้างแพลตฟอร์ม และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการบริการของภาครัฐแบบ ‘One Stop Service’

2. สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านแผนงานอาชญากรรมไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ดำเนินการสอดรับกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนส่วนบุคคล

3. เพิ่มศักยภาพ สร้างพลเมืองดิจิทัลในหลายระดับ โดยสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ตลอดจนผู้สูงวัย โดยเฉพาะวัยทำงานที่จะต้องมีการ Up Skills - Re Skills กระตุ้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เกิดขึ้นตลอด ครอบคลุมผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ เป็นต้น เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“การขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ ดีอีเอสได้ประกาศนโยบายสำคัญ Cloud First Policy เพื่อมุ่งสู่การเป็น Cloud HUB ของภูมิภาค ในการสร้างความเข้มแข็งด้านพื้นฐานโครงสร้างดิจิทัลของประเทศ มีความทันสมัย มีความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ลดภาระซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย ลดภาระงบประมาณ ทำให้ประชาชนรับบริการจากรัฐได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นายประเสริฐ ระบุ

ลงทุนต่ำ-มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง ‘รพ.สต.’ ได้ทั่วประเทศ

ภายในงานดังกล่าว รมว.ดีอีเอส ยังได้อธิบายถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขว่ามีความสำคัญต่อ รพ.สต. ในสังกัด สธ. ด้วย เพราะยังมีบางแห่งที่บันทึกข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ธรรมดา แต่เมื่อไรก็ตามที่คลาวด์กลางสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ จะทำให้ รพ.สต. ได้รับการดูแล ปรับปรุงจากส่วนกลางผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการลงทุนในระบบที่มีการดูแลต้นทุนต่ำ แต่สามารถเชื่อมข้อมูลได้ทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

มากไปกว่านั้น ดีอีเอสโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้จัดให้มีคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ซึ่งเกิดจากมติ ครม. ในเดือน พ.ค. 2562 และเดือน มิ.ย. 2565 ที่จะต้องมีหน่วยงานระดับกระทรวง รวมภูมิภาค จำนวน 205 กรม กว่า 1,000 หน่วยงาน และ 3,369 ระบบงาน

อย่างไรก็ดี การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการพัฒนาคลาวด์กลางของประเทศ ที่ขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงในการพัฒนา ‘คลาวด์กลางด้านสุขภาพ’ เพื่อวางแผนพัฒนาบริการ จัดระบบบริการสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพแบบไร้รอยต่อ โดยที่ไม่ละเลยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

‘คลาวด์กลาง’ สอดรับนโยบายเรือธง ‘30 บาทรักษาทุกที่ฯ’ 

เมื่อพูดถึงการพัฒนาระบบคลาวด์ เพื่อแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลด้านสาธารณสุข ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงนโยบายยกระดับบัตรทอง หรือ ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ เพราะภายหลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. รับนโยบายตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาแล้วนั้น นโยบายนี้ก็ถูกประกาศว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ครอบคลุมทุกระบบ จังหวัด เครือข่าย ฯลฯ

ทว่าการดำเนินงานก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจัดระบบบริการด้านสุขภาพเป็นระบบดิจิทัล ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชนนั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และแน่นอนว่าการพัฒนา ‘คลาวด์กลางด้านสาธารณสุข’ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

“แม้ว่าเราจะมีความพร้อม แต่ถ้าขาดความเชื่อมั่นในการเชื่อมโยงข้อมูลแล้ว ก็จะเป็นไปได้ยาก จะคุยกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม แม้กระทั่งท้องถิ่น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ลำบาก เพราะยังมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือเชิงระบบทั้งหมด” นพ.ชลน่าน ระบุ

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า ในช่วงของการนำร่องนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ นั้นมีความพร้อมในเชิงระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน แม้ว่าจะมีระบบ Hospital Information (HIS) ราว 29 บริษัท แต่เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงข้อมูล 4+8 จังหวัดนำร่อง ทั้งในเฟส 1 และ 2 จึงมักจะเลือกที่ที่ใช้ระบบหลังบ้านแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ คาดว่าระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขจะถูกใช้กับ รพ.สต. ราว 800 แห่ง (จากจำนวนกว่า 4,000 แห่งในสังกัด สธ.) ในเดือน ส.ค. นี้

รพ. ของ สธ. เป็น ‘Smart Hospital’ เกือบทั้งหมด พร้อมเน้น ‘ความปลอดภัย’ 

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงความพร้อมในเชิงระบบ ด้วยจำนวนโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมิน ‘โรงพยาบาลอัจฉริยะ’ หรือ Smart Hospital ทั้งในระดับเงิน ระดับอง หรือระดับเพชร รวมกว่า 800 แห่ง จากจำนวนทั้งหมดกว่า 900 แห่ง ซึ่งหมายความว่าแม้จะเป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ก็สามารถเป็น Smart Hospital ที่มีนโยบาย ‘Paperless’ ทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน เช่น โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส

มากไปกว่านั้น สธ. ยังให้ความสำคัญกับ ‘ความปลอดภัยของข้อมูล’ ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล และระบบ รวมถึงมีการประเมินมาตรฐาน Healthcare Accreditation Information Technology (HAIT) ที่หากผ่านการประเมินระดับ 2 ขึ้นไป จะเป็นหลักประกันได้ว่าสามารถเชื่อมโยงข้อมูลบนพื้นฐานความปลอดภัยเชิงระบบ

ขณะเดียวกัน สธ. ก็ได้มีการตั้งหน่วยบริหารภายในเพื่อดูแลที่มีชื่อว่า สำนักสุขภาพดิจิทัล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ที่จะมีคนเข้าไปกำกับดูแลและเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยทั้งในเชิงของข้อมูลและบุคคล วางระบบตั้งแต่ส่วนกลาง พื้นที่ ไปจนถึงผู้ปฏิบัติงาน

“เราจะพยายามเตรียมความพร้อมในโครงสร้างภายใน ไม่ว่าจะเป็นระบบหลังบ้าน หรือหน้าบ้านอย่างหมอพร้อม ที่มีการเข้าถึง 25 ล้านคน ถ้าคิดรวมๆ ก็อาจจะมากถึง 55 ล้านคน ฉะนั้นหน้าบ้านเปิดพร้อม ถ้ามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดี มีการเชื่อมโยงข้อมูล ผมเชื่อว่าความพร้อมเหล่านี้จะสามารถจัดบริการให้กับประชาชนในมิติสุขภาพดิจิทัล” นพ.ชลน่าน กล่าว

‘30 บาทรักษาทุกที่ฯ’ เฟส 3 จัดเต็ม ‘40 จังหวัด’ 

รมว.สธ. ยังกล่าวถึงการขยายจังหวัดนำร่อง “30 บาทรักษาทุกที่ฯ” ในเฟสที่ 3 ช่วงเดือน ก.ย. 2567 ซึ่งจะประกอบด้วยเขตสุขภาพที่ 1, 3, 4, 8, 9 และ 12 รวมทั้งสิ้น 40 จังหวัด โดยใช้งบในปีงบประมาณ 2567 ส่วนที่เหลือจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ คือภายในเดือน ธ.ค. 2567 ที่จะใช้งบในปีงบประมาณ 2568

มากไปกว่านั้น ภายใต้การดำเนินงาน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ยังมีนวัตกรรมเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก เช่น ร้านยา คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณด้านบริการ ในขณะที่งบบริหารนั้นค่อนข้างน้อย ราว 53 ล้านบาททั้งโครงการ