ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ จี้ ‘สธ. - ก.พ.’ เร่งแก้ปมจัดคนลงตำแหน่ง ‘นักสาธารณสุข’ เหตุรอบแรกตกหล่นหลายพันคน พร้อมเสนอ ‘ยกเลิก ว.11 ปลดล็อก นวก.สธ. ใน รพ.สต. – ทำแนวทางปรับตำแหน่งให้กลุ่มตกหล่นโดยเร็ว’


จากกรณีเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 นายสรรเสริญ นามพรหม ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดคนเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขของหน่วยงานสังกัด สป.สธ. ว่าเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 ที่ประชุม อ.ก.พ.สธ. มีมติอนุมัติการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ให้เป็นนักสาธารณสุขแล้ว 1,495 คน พร้อมทั้งแจ้งมติดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการย้ายเปลี่ยนสายงานด้วยเรียบร้อยแล้ว

รวมถึง ระบุอีกว่า ยังมีบางกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ เช่น นักวิชาการสาธารณสุข ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สังกัด สป.สธ. ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดให้เป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์จึงไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ เป็นอาทิ ส่วนกรณีผู้ที่มีคุณวุฒิไม่ตรงกับมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง สป.สธ. จะดำเนินการตรวจสอบคุณวุฒิเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยหากไม่ติดเงื่อนของตำแหน่งจะมีการเสนอให้ อ.ก.พ.สธ. พิจารณาในรอบถัดไป และคาดว่าจะสามารถแต่งตั้งนักสาธารณสุขได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก (https://www.thecoverage.info/news/content/6535)

ล่าสุด ดร.ริซกี สาร๊ะ กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า การจัดคนเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขรอบแรกจำนวน 1,495 คนของ สป.สธ. นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลของแต่ละพื้นที่พบว่ามีการข้าราชการที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุข ทั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นเดียวกันกับ 1,495 คน โดยเฉพาะการมีวุฒิสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ตามที่ สป.สธ. เคยบอกไว้ว่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้เข้าสู่ตำแหน่ง

นอกจากนี้ แม้ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. จะให้สัมภาษณ์ว่ารอบถัดไปคาดว่าจะสามารถแต่งตั้งนักสาธารณสุขได้มากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือรอบถัดไปคือเมื่อไหร่ และจะมีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไรสำหรับบุคลากรที่ตกหล่นเหล่านี้ ถึงจะมีการเปิดเผยข้อมูลมาว่าให้บุคลากรที่ตกหล่นแจ้งเรื่องไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แต่ละพื้นที่ ทว่า ขณะนี้กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล สสจ. ก็ยังไม่ทราบว่ารับเรื่องมาแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อ เพราะ สป.สธ. ยังไม่ได้ส่งหนังสือกำหนดแนวทางอย่างเป็นทางการมา

“วันสองวันมานี้ พอบุคลากรแต่ละแห่งทราบว่าตัวเองไม่มีชื่อในรอบแรกก็เข้าไปสอบถามที่กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ของ สสจ. ซึ่งก็มีบางที่ที่ทำข้อมูลเพิ่มเติมให้ แต่โดยส่วนใหญ่เขาก็ไม่กล้าดำเนินการต่อ เพราะยังไม่มีหนังสือสั่งการจากส่วนกลางว่าจะทำยังไง ซึ่งควรรีบดำเนินการให้กลุ่มนี้ได้เข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อป้องกันการเสียกำลังใจ หรือเปรียบเทียบกันระหว่างบุคคลภายในหน่วยงาน” ดร.ริซกี ระบุ

ดร.ริซกี กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นคุณวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ก็อยากให้ตีความหมายรวมสาขาอื่นๆ ด้วย เพราะที่ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. ยกตัวอย่างวุฒิ วท.บ. สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ หรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ว่าเป็นคุณวุฒิที่ไม่ตรงกับมาตรฐานการกำหนดตำแหน่งของ ก.พ. นั้น เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่จะเป็นวุฒิ วท.บ. สาขาสาธารณสุขชุมชน อาชีวอนามัย ฯลฯ อีกทั้งจากการเข้าสู่ตำแหน่งในรอบแรกยังมีคนที่มีวุฒิสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะเป็นสาขาบริหารสาธารณสุข หรือสาขาการจัดการโรงพยาบาล ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตกลงเกณฑ์ที่ใช้คือสาขาไม่ใช่วุฒิการศึกษาหรือไม่

ดร.ริซกี กล่าวอีกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนบุคลากรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่อยู่ใน รพ.สต. ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุขได้ในขณะนี้ เพราะติดเงื่อนไขจากหนังสือแจ้งเวียนของ ก.พ. (ว.11) เมื่อปี 2562 ซึ่งขณะนั้นเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้สายงานด้านสาธารณสุขเปลี่ยนสายงานกันหมด ภายหลังกังวลว่าจะไม่มีบุคลากรที่ทำงานด้านบริการทางการแพทย์ จึงกำหนดให้นักวิชาการสาธารณสุข ใน รพ.สต. และ กรมควบคุมโรค (คร.) สธ. หากต้องการเปลี่ยนสายงานต้องทำเรื่องผ่าน ก.พ. และ อ.ก.พ.สธ. โดยต้องระบุถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนสายงาน ซึ่งมีเงื่อนไขประมาณ 4 – 5 ข้อ

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันบริบทเปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะที่มีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่ง รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไป อปท. เหล่านี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่อง ว.11 ดังกล่าวมาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุข แต่ตอนนี้ รพ.สต. สังกัด สป.สธ. กลับยังมีข้อจำกัดตรงนี้อยู่

มากไปกว่านั้น การเปลี่ยนจากนักวิชาการสาธารณสุขมาเป็นนักสาธารณสุข ไม่ได้กระทบการทำหน้าที่ด้านบริการด้านการแพทย์ในหน่วยงานนั้นๆ เลยแม้แต่น้อย ยังคงบำบัด ป้องกัน ดูแลรักษาโรค ตลอดจนฟื้นฟูเบื้องต้นเหมือนเดิมตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ที่สำคัญการเปลี่ยนมาเป็นนักสาธารณสุขจะยิ่งทำให้บริการต่างๆ เหล่านี้มีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย เพราะตำแหน่งนักสาธารณสุขมีสภาวิชาชีพกำกับและควบคุม

“ถ้าตอนแรกสภาการสาธารณสุขชุมชน ทราบว่ามีข้อจำกัดตรงนี้ด้วย ก็คงจะมีการทำข้อเสนอเชิงวิชาการเสนอไปให้ แต่สถานการณ์ตอนนี้จะทำอย่างนั้นได้ ต้องรอกรรมการสภาฯ ชุดใหม่แล้ว” เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ ระบุ

ดร.ริซกี กล่าวว่า ดังนั้นจากประเด็นปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด ทางชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ จึงมีข้อเสนอ 4 ข้อด้วยกันที่อยากให้ สป.สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยประกอบด้วย 1. อาจมีการพิจารณายกเลิกหนังสือ ว.11 เพื่อทำให้นักวิชาการสาธารณสุขใน รพ.สต. สังกัด สป.สธ. สามารถเปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นนักสาธารณสุขได้ ไม่เช่นนั้นบุคลากรเหล่านี้ ซึ่งน่าจะมีเป็นพันคนเสียสิทธิในการเข้าสู่ตำแหน่งตรงนี้ และอาจเป็นกระบวการเร่งให้มีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสังกัด อปท. มากขึ้น เพราะมีเรื่องความก้าวหน้าที่ชัดเจนว่าไม่ติดเงื่อนไขใดๆ

2. สป.สธ. ควรมีการทำหนังสือชี้แจงแนวทางการดำเนินการทั้งประเด็นกลุ่มที่ตกหล่น และกลุ่มที่อยู่ใน รพ.สต. ให้กับหน่วยงานในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ใน สสจ. โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างถูกต้อง 3. หากได้แนวทางในการจัดการให้กับกลุ่มที่ตกหล่นมาแล้ว สป.สธ. ควรพิจารณาในการนำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดคนเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขที่มีอยู่แล้วมาใช้ รวมถึงส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างรวดเร็ว

4. ในการดำเนินการหลังจากนี้ สป.สธ. อาจมีการพิจารณาทำหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจนในการจัดคนเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข ตัวอย่างเช่น แบ่งเป็นหน่วยงาน รอบแรกเป็นโรงพยาบาลศูนย์ รอบสองเป็น รพ.สต. หรือ สสจ. หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อความชัดเจน เพราะอย่างในครั้งนี้ 1,495 คน บุคลากรไม่มีใครรู้เลยว่าใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก

“อยากให้เร่งดำเนินการต่างๆ ให้เร็วที่สุด เพราะมันจะกระทบเรื่องสิทธิประโยชน์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะไปผลักดัน เช่น เรื่องเงินประจำตำแหน่งอะไรต่างๆ รวมถึงถ้ากลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขดำเนินการล่าช้า กลุ่มต่อไปที่เราจะติดตามคือกลุ่มเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.) ที่มีใบประกอบวิชาชีพก็จะยิ่งช้าไปด้วย” ดร.ริซกี ทิ้งท้าย