ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์วิกฤตใดต่อประเด็นสาธารณสุขไทย หนึ่งในบุคลากรด้านหน้าที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งคงหนีไม่พ้น “นักวิชาการสาธารณสุข” ที่เป็นบุคลากรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชานที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อสังเกตถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงตำแหน่งหน้าที่ขึ้น เมื่อ “หมออนามัย” ทั้งหลายยังไม่ได้รับการกำหนดตำแหน่งให้เป็น “วิชาชีพเฉพาะ” ทั้งที่มี พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 อันกำหนดมาตรฐานและระเบียบการต่างๆ มาแล้ว เพื่อให้นักวิชาการสาธารณสุขมีคุณภาพเหมาะสมกับการทำงานดูแลประชาชน เพราะที่ผ่านมาการย่อหย่อนในจุดนี้ทำให้มาตรฐานและคุณสมบัติของบุคลากรอาจจะไม่สามารถตอบสนองกับหน้าที่ได้ดีเพียงพอ

ในที่สุด ความเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้ทบทวนบทบาท ภารกิจ และการกำหนดตำแหน่งก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 ได้มีการประชุมคณะทำงานพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจสายงานวิชาการสาธารณสุข เพื่อขอกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” เป็นตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะตามที่ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขฯ ได้กำหนดเอาไว้

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะเสริมประสิทธิภาพให้กับงานสาธารณสุข และกำหนดมาตรฐานให้มีขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือประโยชน์ด้านสุขภาวะของประชาชน

ใครๆ ก็เป็น นักวิชาการสาธารณสุขได้

ตามระเบียบที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ได้ระบุไว้ว่า นักวิชาการสาธารณสุข มีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักๆ ครอบคลุมไปตั้งแต่ด้านการปฏิบัติการ เช่นการศึกษาวิจัยงานเบื้องต้นด้านสาธารณสุข ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและภัยสุขภาพ รวมทั้งการรักษา คัดกรอง และตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นด้วย

นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีภาระงานอื่นๆ เช่นงานนโยบายและแผนตามหน้าที่รับผิดชอบ งานบริการประชาชนและหน่วยงานต่างๆ  อีกทั้งงานประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นภาระหน้าที่ของตำแหน่งนี้เช่นเดียวกัน

ในด้านคุณสมบัติเฉพาะของตำแหน่ง เป็นจุดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดว่าเป็นจุดอ่อนของตำแหน่งนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการผลักดันขอให้กำหนดเป็นตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ เพราะว่าตามเอกสารที่ทาง ก.พ. ได้ประกาศออกมาระบุไว้โดยรวมว่า ผู้ที่จะสามารถเป็นนักวิชาการสาธารณสุขได้ ต้องจบการศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เภสัชศาสตร์ จิตวิทยา หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น

แต่ในระเบียบก็ยังระบุว่า สาขาอื่นๆ อย่าง เกษตรศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ คหกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ด้านที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ศึกษาศาสตร์ด้านพลศึกษา และเศรษฐศาสตร์ ก็มีคุณสมบัติในการทำงานตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขได้เช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ท้ายที่สุด วุฒิการศึกษาตามคุณสมบัติข้างต้นก็ไม่ได้สำคัญแต่อย่างใด เพราะในตอนท้ายของส่วนคุณสมบัติได้ระบุไว้ว่า “หรือสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง หรือหลายสาขาวิชาและทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางดังกล่าว ที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดเห็นว่าเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และลักษณะงานที่ปฏิบัติ หรือสาขาวิชาอื่นที่ ก.พ. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้”

นั่นหมายความว่า การจะเป็นนักวิชาการสาธารณสุขนั้น จะมีวุฒิการศึกษาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการแพทย์หรือสาธารณสุขศาสตร์ แล้วแต่ต้นสังกัดจะระบุ

ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า เมื่อบุคลากรไม่ได้มีความรู้ความสามารถตรงกับ “ลักษณะงาน” เท่าที่ควร จึงทำให้การดำเนินงานต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบางเรื่องต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ พยาบาล หรือสาธารณสุขเท่านั้น เช่นการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ของประชาชนในชุมชน

คณะทำงานพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจสายงานวิชการสาธารณสุข ได้ระบุไว้ในเอกสารการประชุมว่า ลักษณะงานของนักวิชาการสาธารณสุขนั้นเป็นวิชาชีพเฉพาะ ต้องปฏิบัติการโดยผู้คุณวุฒิตรงกับงาน เพราะเป็นงานที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นจึงขอให้มีการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” เป็นตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฯ และตรงกับระเบียบมาตรฐานที่ได้กำหนดเอาไว้

ไม่ควรให้ ใครๆ ก็เป็นได้

“The Coverage” ได้พูดคุยกับหนึ่งผู้นำการผลักดันและเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของประเด็นนักสาธารณสุขในครั้งนี้อย่าง อเนก ทับทิม กรรมการและเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน

อเนก ระบุว่า ตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะนี้มีความสำคัญมาก เพราะตำแหน่งนี้จะเป็นตัวกำหนดองค์ความรู้ที่นักสาธารณสุขต้องมี และกำหนดมาตรฐานบุคลากรให้ชัดเจน

การกำหนดตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ จะทำให้สามารถควบคุมกำกับมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพได้ นอกจากนี้ก็ยังจะเป็นการพัฒนามาตรฐานเกณฑ์ของวิชาชีพที่ได้กำหนดไว้ เพราะถ้าไม่กำหนดให้เป็นวิชาชีพ ก็จะไม่มีทิศทางในการพัฒนา ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ตกอยู่กับประชาชนทั้งสิ้น

เมื่อบุคลากรต้องผ่านกระบวนการในการสอบใบประกอบวิชาชีพ ผู้ที่เข้าสอบคือผู้ที่มีองค์ความรู้ตามตำแหน่งวิชาชีพจริงๆ ไม่ใช่การอบรมจากหน่วยงานต่างๆ อย่างที่ผ่านมา และเมื่อองค์ความรู้ที่ผู้สอบใบประกอบวิชาชีพมี เป็นองค์ความรู้ที่เป็นจริง เหมาะสมตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ พวกเขาเหล่านั้นก็จะสามารถออกไปทำงานเพื่อประชาชนได้จริงๆ แก้ปัญหา บรรเทาความเดือดร้อน ได้ตรงตามหลักการของงานสาธารณสุข และยังถูกควบคุมจรรยาบรรณจากสภาวิชาชีพอีกทอดหนึ่ง

การทำงานที่ผ่านมา ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขก็จะมีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุข ไม่ว่าจะทำงานด้านใด ตั้งแต่เภสัชกรไปจนถึงนักวิชาการ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ตำแหน่งนักวิชาการ ใครๆ ก็เป็นได้

“ถ้าไปดูเงื่อนไขของ ก.พ. มันมีนับร้อยสาขาที่ระบุว่าเป็นนักวิชาการสาธารณสุขได้ ลองคิดดูว่าเอาคนที่จบเกษตรมาดูแลเรื่องสุขภาพในตำแหน่งนักวิชาการ เอาคนที่จบประมง คอมพิวเตอร์ และสารพัด อะไรก็เป็นได้หมดเลย มาเป็นนักวิชาการสาธารณสุขที่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่ Health literacy ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพต่างๆ รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำต่างๆ หลายเรื่องๆ นักวิชาการเหล่านั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เขาไม่ได้มีความรู้เฉพาะ เขาถูกแต่งตั้งให้ทำงาน พอเป็นเช่นนี้ก็จะสอดคล้องกับที่กล่าวไปว่า บุคลากรไม่มีมาตรฐานตามหน้างานสาธารณสุขที่ต้องทำ” อเนก ระบุ

อเนก กล่าวต่อไปอีกว่า ผู้ที่มีคุณวุฒิไม่ตรงกับงานด้านสาธารณสุข พอเกิดปัญหาใหญ่ เช่น โรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ เช่นโควิด-19 บุคลากรเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะไปปฏิบัติงานเชิงลึกได้ สุดท้ายก็ต้องรอคำสั่งจากผู้ที่มีความรู้จริงๆ

นั่นจึงเป็นความจำเป็นที่ว่า ตำแหน่งนักสาธารณสุขที่จะเป็นวิชาชีพเฉพาะ ต้องคัดผู้ที่มีวุฒิการศึกษาด้านสาธารณสุขมาจริงๆ และผ่านการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งในท้ายที่สุด เราก็จะได้นักสาธารณสุขจริงๆ ที่ไม่ใช่ใครก็ได้

สิ่งที่สำคัญของการกำหนดให้เป็นตำแหน่งเฉพาะ คือเราจะสามารถปฏิรูประบบสาธารณสุขได้จริงๆ เพราะที่ผ่านมามันไม่เกิดการปฏิรูปเหมือนที่รัฐบาลได้แถลงเอาไว้ การมีนักวิชาชีพสาธารณสุขจะเป็นการพลิกโฉมวงการสาธารณสุขของไทย และจะสามารถทำให้ไทยกลายเป็นต้นแบบของโลกได้ เพราะงานวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน หรือ “หมออนามัย” มีในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลก นอกจากนี้มันจะยังนำไปสู่การมีสภาวิชาชีพที่จะเป็นเข็มทิศนำการพัฒนางานสาธารณสุขของประเทศเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น ก็จะเป็นการตอบโจทย์ใหญ่ของระบบสุขภาพคนไทย ให้สามารถสนองต่อ 6 มิติ ที่สำคัญ ได้แก่การรักษาโรคเบื้องต้น การควบคุมโรค การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ การชีวอนามัย และการอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ถ้าทำได้ ก็จะหมายถึงสุขภาวะที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ

นายอเนก ยังกล่าวอีกว่า ยังมีข้อกังวลอยู่บ้างในระดับบริหาร ว่าผู้บริหารกิจการสาธารณสุขของไทย เช่น กระทรวงสาธารณสุขนั้นพร้อมมากเพียงใดที่จะทำตามกฎหมายให้มันทันเวลา เพราะอาจจะเกิดการถ่วงเวลาก็เป็นได้ และกระทรวงสาธารณสุขเองก็อาจจะเป็นผู้ถ่วงเวลาการผลักดันครั้งนี้ นับตั้งแต่พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนได้ออกมาตั้งแต่ปี 2556 เราก็พยายามขับเคลื่อนกันมาตั้งแต่ตอนนั้นมาโดยตลอด และอยากให้มันเกิดขึ้นสำเร็จเป็นจริงในที่สุด