ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปธ.สมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขฯ ชวนจับตา ‘สธ.’ อาจขยับปรับโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังใหม่ หลังมีการประกาศ ‘กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ’ ลุ้นผุดกรมใหม่ – ออกจาก ก.พ. 


จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2567 เพื่อแจ้งรายละเอียดการแบ่งส่วนราชการ หน้าที่ และอำนาจของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ที่ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป (ราชกิจจาฯ ประกาศ ‘กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สป.สธ. ปี 67’ ปรับใหม่ในรอบ 7 ปี | TheCoverage.info)

ล่าสุดทาง นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) และ นายกสมาคมสหพันธ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่าสำหรับการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในครั้งนี้ คงต้องดูกันต่อไปอีกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบทบาทภารกิจในการบริหารราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาค อย่างการยุบเลิกหน่วยงานเดิม หรือมีเพิ่มหน่วยงานมากขึ้นหรือไม่อย่างไร

อีกทั้งถ้าเป็นแบบนั้นจะส่งผลกระทบกับการบริหารจัดการทรัพยากรกำลังคนในภาพรวมหรือไม่ เช่น การแบ่งกลุ่มภารกิจ การจัดตั้งกรมขึ้นใหม่ การนำงานบริหารทรัพยากรบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งจากเดิมอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาไว้ที่ สธ. แทน ตามที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เคยประกาศไว้ เพราะอาจเป็นการนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างและอัตรากำลังของ สธ. ตามมาด้วย

นางทัศนีย์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากหากมองย้อนไปในอดีต จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และต่อเนื่องจนถึงปี 2560 ที่ได้มีการประกาศใช้โครงสร้างและอัตรากำลัง ตามหนังสือที่ สธ 0201.032/ว1707 นั้นในปีเดียวกันก็ได้มีการประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของ สธ. เช่นกัน 

รวมถึงการแบ่งส่วนราชการของ สธ. ที่เกิดขึ้นในสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการเพิ่มกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ขึ้นมา และมีจุดเปลี่ยนที่ส่งผลต่อการจัดระบบบริการสุขภาพ เพราะว่ามีการให้ยุบ 2 หน่วยงานรวมกัน คือ กองโรงพยาบาลภูมิภาค และกองสาธารณสุขภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญและส่งผลต่อการบริหารจัดการกำลังคนในภาพใหญ่ จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องหารือกับหน่วยงานในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อปรับโครงสร้างฯ กันใหม่ 

นางทัศนีย์ กล่าวอีกว่า แม้จะยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบทบาทภารกิจภายใน สธ. ขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าเป็นในแนวทางที่สอง หรือการนำงานบริหารทรัพยากรบุคลากรด้านสาธารณสุขออกจาก ก.พ. ทาง สคสท. ก็พร้อมจะสนับสนุน ตามที่เคยมีข้อเสนอไว้ เมื่อ 22 ก.ย.2566) ใน 8 ประเด็นที่ได้ไปยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข (‘เครือข่ายนักสาธารณสุข’ ยื่นหนังสือถึง ‘ชลน่าน’ ตามความคืบหน้า ‘จัดคนลงตำแหน่ง’ | TheCoverage.info)

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนนโยบายดังกล่าวนั้น ก็ต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่ว่าควรจะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยเน้นให้มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากบุคลากรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบสาธารณสุขทุกระดับ ตลอดจนประชาชนผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้องด้วย เพราะการนำงานบริหารทรัพยากรบุคลากรด้านสาธารณสุขออกมาจาก ก.พ. แล้ว จะมีการนำไปปฏิบัติอย่างไรต่อ ลักษณะและรูปแบบจะเป็นอย่างไร ก็ควรจะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาในรายละเอียดร่วมกันอย่างเหมาะสมที่สุดอีกครั้ง

“สิ่งนี้จะเป็นการปรับภาพใหญ่ไหม หรือเฉพาะบางส่วนที่ไม่ได้กระทบกับภาพใหญ่ ต้องรอดู เพราะตัวโครงสร้างบทบาทภารกิจและกรอบอัตรากำลังล่าสุดในหนังสือแจ้งเวียน สธ. ว8499 เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 กำหนดขอบเขตช่วงเวลาให้ใช้ถึงเดือน ก.พ. 2567 ฉะนั้นหมายความว่าจะต้องปรับปรุงโครงสร้างบทบาทภารกิจและอัตรากำลังขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะปรับปรุงโครงสร้างฯ ที่เปลี่ยนแปลงหรือขยับเพียงเล็กน้อยโดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั้งระบบ

“ทาง สคสท. เองก็ได้เสนอภาพโครงสร้างหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค สป.สธ. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) และ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ซึ่งแม้จะเป็นเพียงการแสดงภาระงานจำลอง แต่ก็ต้องรอดูว่าทาง สธ. จะนำไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน” ประธาน สคสท. กล่าว