ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. สานพลัง 4 หน่วยงานภาครัฐ-ประชาสังคม MOU ระบบเฝ้าระวัง –ดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่ง หลังพบตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านเพิ่มขึ้นเป็น 19% ทั้งประเทศ พร้อมเชื่อมข้อมูลสร้างกระบวนการส่งกลับ - ดูแล - ฟื้นฟู


เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสุขภาพจิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มูลนิธิกระจกเงา จัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) “การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่ง” เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้รับบริการในสถานพยาบาล และข้อมูลคนหาย/ผู้ป่วยข้างถนน เพื่อติดตามสืบค้นประวัติ ครอบครัว และภูมิลำเนาเดิม ต่อยอดสู่การบูรณาการเพื่อป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของผู้ป่วยทางจิต

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต สธ. กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานดูแลและงานวิจัยผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมสุขภาพจิต มูลนิธกระจกเงา สสส. พบว่ายังมีผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งจำนวนหนึ่งเร่ร่อนในที่สาธารณะและขาดโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนาระบบและจัดให้บริการผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มดังกล่าว ช่วยให้สามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในที่สาธารณะได้ 

1

รวมถึงนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา รวมถึงการตามหาญาติหรือส่งกลับสู่บ้านได้ ดังนั้น หากทุกหน่วยได้ประสานและดำเนินงานร่วมกัน จะช่วยให้ดำเนินงานมีความคล่องตัว ประสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างไร้รอยต่อ ออกแบบระบบเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่ง และร่วมผลักดันการทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชของประเทศไทย เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยจิตเวชต่อไป

ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากแจงนับสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดย สสส. พม. จุฬาฯ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและภาคีเครือข่าย ปี 2566 พบคนไร้บ้านมีปัญหาสุขภาพจิตที่เห็นได้ชัดอยู่ประมาณ 19% ของทั้งประเทศ จากการทำงานของเครือข่ายด้านคนไร้บ้าน พบข้อมูลที่ตรงกันว่าคนไร้บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ เป็นผู้ป่วยทางจิตอยู่เดิมก่อนจะเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน สาเหตุเกิดจากการหลุดหายจากครอบครัว และขาดกระบวนการดูแลในระยะยาว

1

 “ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย ได้เน้นนวัตกรรมการฟื้นฟู ส่งเสริมคนไร้บ้านให้ตั้งหลักชีวิตกลับคืนสู่ครอบครัวผ่านโมเดลต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง สุขภาวะข้างถนน เป็นต้น และยังมีการดำเนินงานด้านการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทำให้จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ความท้าทายสำคัญในปัจจุบัน คือ คนไร้บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่เห็นได้ชัด มีแนวโน้มเพิ่มจากประมาณ 10% ในปี 2559 มาเป็น 19% จึงจำเป็นต้องมีวิธีการทำงานเพื่อป้องกันในอีกรูปแบบพิเศษ 

“MOU ครั้งนี้ มีความสำคัญที่จะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างมูลนิธิกระจกเงา ที่ดูแลข้อมูลคนหายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยทางจิต ข้อมูลผู้รับบริการในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และสถานสงเคราะห์คนพิการบ้านกึ่งวิถี ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงข้อมูลผู้ป่วยของสถานพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อสืบค้นประวัติ ครอบครัว ภูมิลำเนาเดิมของคนไร้บ้าน/คนไร้ที่พึ่ง สร้างกระบวนการส่งกลับ ดูแล และฟื้นฟูในอนาคต” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

4