ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยงาน ส. จับมือ กทม. และภาคีเครือข่าย หารือแนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อน “กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ” เสริมบทบาทโครงการภาคประชาชน ใช้งบประมาณสร้างกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ-ออกแบบบนความต้องการของพื้นที่ ด้านรองผู้ว่าฯ กทม. เผยแผนปี 67 ตั้งเป้าใช้เงิน 80% หนุนโครงการเอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชน ผ่านกระบวนการ “ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต”


เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันเสริมบทบาทและความร่วมมือ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผยว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ เป็นเงินที่ได้รับจัดสรรจาก สปสช. ในทุกปี ร่วมกับเงินของ กทม. ที่ร่วมสมทบอีกไม่น้อยกว่า 60% เพื่อใช้ในการดูแลส่งเสริมด้านสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนับจากการก่อตั้งในช่วงปี 2561 เป็นต้นมา กองทุนฯ นี้ถูกนำเงินไปใช้เฉลี่ยอยู่ที่เพียง 13-20% เท่านั้น นั่นเท่ากับว่ากิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนก็สามารถเกิดขึ้นได้น้อย ไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์

1

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 ทางผู้ว่าราชการ กทม. จึงได้มีการกำหนดให้การส่งเสริมสุขภาพประชาชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้เงินอยู่ที่ 80% ของงบที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี บนการมุ่งให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และบูรณาการการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดกิจกรรมหรือโครงการที่ตรงกับปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนที่มีความหลากหลาย และนำไปสู่การสร้างศักยภาพในการดูแลสุขภาพตนเองได้

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จึงมีขึ้นเพื่อเชื่อมโยงและอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกันของเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะ สช. สสส. สปสช. ที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนและช่วยกันทำให้กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เกิดได้มากขึ้น มีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นเวทีกลางในการพัฒนาประเด็นสู่การปฏิบัติ มีธรรมนูญสุขภาพในระดับเขต เป็นทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมร้อยกลไกในระดับปฐมภูมิของ กทม. ที่อยู่มากมาย ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านขายยา อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)

5

“ที่ผ่านมาอาจด้วยอุปสรรค หรือเงื่อนไขการใช้เงินที่ประชาชนยังอาจทำได้ยาก เราจึงต้องช่วยในการอำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหา คลายปมบางอย่างเพื่อให้การนำเงินไปใช้ลื่นไหลได้มากขึ้น โดยสิ่งที่เตรียมทำไว้ เช่น ฐานข้อมูล หรือ ‘ตะกร้าโครงการ’ เอาตัวอย่างโครงการที่เคยได้รับอนุมัติและทำกันมาแล้ว ให้พื้นที่ได้ทาบลงไปดูว่าสนใจ เหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการจัดทำคู่มือหรือเอกสารที่ให้ศึกษาเข้าใจได้ง่าย” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สช. กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของทุกคนในวันนี้คือ จะทำให้พี่น้องประชาชนใน กทม. เข้าถึงและมีส่วนร่วมในการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่ได้อย่างไร ภายใต้การเชื่อมโยงองค์ประกอบสำคัญทั้ง 4 ก. คือ กองทุน, กรรมการ, กิจกรรม และที่สำคัญคือ การบริหารจัดการที่ดี ที่มีความเชื่อมโยงกัน ไม่แยกจากกัน โดยเวทีในวันนี้จะเป็นพื้นที่กลางให้ทุกส่วนได้มาร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้นี้ไปด้วยกัน

2

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์สำคัญของกระบวนการครั้งนี้คือ 1. เสริมบทบาทและสร้างโอกาสการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ 2. พัฒนารูปแบบ วิธีคิด และกรอบการดำเนินงานของกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ พร้อมมองภาพอนาคตระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 3. พัฒนาความร่วมมือองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมเป็นหุ้นส่วน ขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ สู่พี่น้องประชาชน

ขณะที่ ดร.ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ มีงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรปีละประมาณ 340 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีเงินคงเหลือรวมทั้งสิ้นกว่า 1 พันล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการที่ได้อนุมัติรวมทั้งหมด 651 โครงการ รวมเป็นเงิน 56.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 16% ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากมองในแง่โครงการที่ถูกเสนอโดยภาคประสังคม/ชุมชน/ประชาชน พบว่าได้รับการอนุมัติไปถึง 90%

1

ดร.ทพญ.น้ำเพชร กล่าวว่า ในส่วนบทบาทของ สปสช. ที่จะสนับสนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ ในปี 2567 ได้เตรียมที่จะทบทวนและปรับประกาศบางอย่างที่อาจติดขัด พร้อมพัฒนาโปรแกรมสนับสนุนการบริหารกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพ ผลักดันภาคส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงงบประมาณนี้ได้เข้าถึงมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการเยี่ยมเสริมพลัง ชูตัวอย่างผลงานเด่นจากเขตต่างๆ พัฒนาสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ส่งเสริมการขับเคลื่อนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน คลินิกชุมชนอบอุ่น ได้ใช้งบกองทุนฯ ไปจัดบริการมากขึ้น

ด้าน น.ส.รษิดา เรืองศิริ นักบริหารแผนชำนาญการ สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในส่วนของ สสส. ได้มีการสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อการเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพใน 12 เขตนำร่อง การจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่กลางสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยเฉพาะความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ ในการจัดตั้งศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมือง เป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคประชาชนให้เข้าถึงกลไกการเงินการคลังด้านสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาสุขภาวะของชุมชนใน กทม.

3

น.ส.รษิดา กล่าวว่า มองว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสำเร็จได้นั้น คือ การสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับคณะอนุกรรมการกองทุนฯ การสนับสนุน พัฒนาศักยภาพของชุมชนในการเข้าถึงงบประมาณ และการสร้างความเข้าใจ บทบาทศูนย์วิชาการฯ แต่ละแห่งให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยสิ่งที่เตรียมจะมุ่งเน้นต่อไปในปี 2567 คือการหาพื้นที่ต้นแบบ หรือ Sandbox เพื่อค้นหาปัจจัยความสำเร็จ ข้อติดขัด เพื่อพัฒนา ขยายผล ออกแบบกลไกการบริหารจัดการที่มีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพเขตเมือง ที่เป็นเป้าหมายสำคัญได้