ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองโฆษกรัฐบาล เผย ประกันสังคม ให้สิทธิ ผู้ประกันตน ม. 33-ม.39 หากตรวจพบเป็นมะเร็งรักษาฟรี ครอบคลุมมะเร็ง 20 ชนิด แต่ถ้าต้องใช้ยา-เคมีบำบัด-ฉายรังสี ให้เบิกได้ปีละ 5 หมื่นบาท 


วันที่ 9 พ.ย. 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ให้การคุ้มครองด้านการรักษาโรคมะเร็งแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนสิ้นสุดการรักษาหากเข้ารับการรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนด และมีความจำเป็นที่ต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็งและหรือเคมีบำบัดและหรือรังสีรักษา ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี

นายคารม กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งได้ 20 ชนิด ประกอบด้วย 1. โรคมะเร็งเต้านม 2. โรคมะเร็งปากมดลูก 3. โรคมะเร็งรังไข่ 4. โรคมะเร็งมดลูก 5. โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก 6. โรคมะเร็งปอด 7. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ตรง 8. โรคมะเร็งหลอดอาหาร 9. โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี 10. โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 

11. โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 12. โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 13. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ในผู้ใหญ่ 14. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่  15. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่ 16. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่แบบ Acute Promyelocytic leukemia (APL) 17. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่ 18. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมาในผู้ใหญ่ 19. โรคมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ในผู้ใหญ่ และ 20. โรคมะเร็งเด็ก

“รัฐบาลให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตผู้ประกันตน มุ่งยกระดับมาตรฐานการให้บริการครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประกันได้คลายความกังวลเมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมได้ทุกที่ทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน 1506” รองโฆษกรัฐบาล กล่าวตอนท้าย