ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการ สปส. ระบุ เสนอแก้กฎหมายประกันสังคมตั้งแต่ปี 65 แล้ว ยืนยันบอร์ดสัดส่วน ‘นายจ้าง-ลูกจ้าง’ ยังใช้วิธีเลือกตั้ง แต่เปิดช่องสรรหาไว้กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย


นางมารศรี ใจรังษี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ไม่ได้เพิ่งยื่นแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หลังจากมีผลการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ฝ่ายผู้ประกันตน และนายจ้าง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อออนไลน์ โดยร่างนี้เป็นร่างเดิมที่เคยเสนอแก้ไขไว้ตั้งแต่ปี 2565 แต่ต้องตกไปเพราะมีการยุบสภาในปี 2566 

“วิธีการได้มาซึ่งกรรมการให้เป็นไปตามที่รมว.แรงงาน ประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.)  นั้น มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการจากเดิมที่กำหนดให้ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง เป็นวิธีการสรรหาแต่อย่างใด” นางมารศรี กล่าว

นางมารศรี กล่าวต่อไปว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ในมาตรา 8 ได้กำหนดวิธีการได้มา ไว้ 2 วิธี ได้แก่ 1. การเลือกตั้ง หรือ 2. วิธีการสรรหา โดยเหตุผลที่กำหนดเช่นนี้ เนื่องจากหากเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น ในกรณีเกิดโรคระบาด หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพื่อให้การบริหารกองทุนไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากกรรมการหมดวาระลง (บอร์ดรักษาการ) จะไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบในบางเรื่องได้ จึงกำหนดให้ รมว.แรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถประกาศกำหนดวิธีการอื่น เช่น การสรรหาคณะกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ได้

ทั้งนี้ ยืนยันว่าหลักการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ประกอบกับในการเสนอร่างกฎหมาย ทุกขั้นตอนมีการเผยแพร่และผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทั้งในชั้นก่อนเสนอเข้า ครม. และชั้นการตรวจร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา