ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศูนย์บริการสาธารณสุขมูลฐาน ชุมชนวัดแคนอก” จ.นนทบุรี คิกออฟ ฉีด “วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่” ดูแลประชาชนไทย 7 กลุ่มเสี่ยง ตั้งเป้าฉีด 500 โดสต่อวัน พร้อมแนะจองคิวผ่าน “เป๋าตัง” เพื่อความสะดวก ด้าน โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เตรียมกระจายวัคซีนให้หน่วยบริการลูกข่าย 28 แห่ง เอื้อประชาชนเข้ารับบริการวัคซีนได้โดยสะดวก-รวดเร็ว   


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 สปสช. สระบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน “การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปี 2567 สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ทุกสิทธิการรักษา” โดยมี นพ.จีระศักดิ์ ศรีเจริญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และหัวหน้าศูนย์สาธารณสุขวัดแคนอก พร้อมด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขมูลฐาน (ชุมชนวัดแคนอก) ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่ง สปสช. ร่วมกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เปิดให้ประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับบริการฉีดวัคซีนฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา จนถึง 31 ส.ค. 2567 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมดลง ซึ่งประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงนั้น มีความจำเป็นต้องฉีดป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี เนื่องจากสายพันธุ์การระบาดมีการเปลี่ยนแปลง โดย สปสช. จะประสานกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าในแต่ละปีจะต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันสายพันธุ์ใด ซึ่งในปี 2567 นี้ ยังคงเป็นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/4897/2022 (H1N1)pdm09-like virus; an A/Thailand/8/2022 (H3N2)-like virus; and a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) โดยจัดเตรียมไว้จำนวน 4.5 ล้านโดส จากการคำนวณกลุ่มเป้าหมายทั้งประเทศอย่างรอบคอบ 

สำหรับที่จังหวัดนนทบุรีนี้ จากข้อมูลมีประชากรกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม จำนวน 194,836 ราย ได้รับจัดสรรวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จำนวน 69,058 โดส โดยผลการให้บริการในปีที่ผ่านมา (ปี 2566) คิดเป็น ร้อยละ 90.06  และในปีงบประมาณ 2567 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้รับจัดสรรวัคซีน จำนวน 19,250 โดส

“เรากังวลเล็กน้อยจากการฉีดวัคซีนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา กลัวว่าประชาชนจะไปกระจุกรับบริการฉีดกันตอนท้าย ฉะนั้นจึงมาดูการบริหารจัดการเพื่อให้บริการวัคซีนฯ ที่วัดแคนอกในวันนี้ ว่าดำเนินการกันอย่างไร ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขฯ ชุมชนวัดแคนอก ที่เป็นหน่วยย่อยของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มีกลุ่มเป้าหมาย 2,000 คน และที่นี้บริหารจัดการดีมาก” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ด้าน นพ.จีระศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้รับจัดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จาก สปสช. จำนวน 19,250 โดส และได้กระจายไปยังหน่วยบริการลูกข่าย 28 แห่ง ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขฯ ชุมชนวัดแคนอก เป็นหนึ่งใน 28 หน่วยบริการลูกข่ายของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ได้รับจัดสรรวัคซีนรอบแรกจำนวนประมาณ 2.000 โดส และได้เริ่มต้นให้บริการประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา และจะมีระยะเวลาการดำเนินต่อไปจนถึงเดือน ก.ย. 2567 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด ทั้งนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ รวมถึงมีการวางระบบผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในบริการกระเป๋าสุขภาพ ที่ตั้งเปิดจำนวนการให้บริการวันละ 500 โดส เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถจองคิว เป็นการอำนวยความสะดวกก่อนเข้ารับบริการ 

“ส่วนหน่วยบริการลูกข่ายอื่นๆ นั้น ทาง รพ.พระนั่งเกล้าก็ได้มีการพูดคุยถึงแผนการดำเนินงานแล้ว และจะให้หน่วยบริการในเครือข่ายแจ้งเข้ามาที่โรงพยาบาลว่าต้องการวัคซีนจำนวนเท่าไหร่ ให้บริการได้กี่วันละกี่โดส เวลาใดบ้าง เพื่อประชาสัมพันธ์ร่วมกัน ฉะนั้นการฉีดวัคซีนของจังหวัดนนทบุรี สามารถเข้าถึงได้ค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งการฉีดวัคซีนต้องรวดเร็ว เพราะเป็นการป้องกันโรคตามฤดูกาล” รอง ผอ.โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ระบุ 

ขณะที่ นายชาญ ปานไทย ประธาน อสม. โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า อสม. ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามีจำนวน 167 คน ดูแลประชาชนใน 8 ชุมชน ครอบคลุมหมู่ที่ 1-5 ในพื้นที่ ต.บางกระสอ โดยเมื่อถึงช่วงเวลาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล จะประสานไปยังประธานชุมชนแต่ละแห่งเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนในกลุ่มเป้าหมายเข้ารับวัคซีนฯ ป้องกันโรค ซึ่งภายในครึ่งวันนับตั้งแต่เปิดให้บริการ มีประชาชนเข้ามารับบริการแล้วกว่า 60 ราย  

ส่วน  น.ส.บุญช่วย เพลาะกระโทก ชาวบ้านชุมชนวัดแคนอก เปิดเผยว่า ส่วนตัวมีโรคประจำตัวเป็นโรคธาลัสซีเมีย โรคความดันโลหิต และโรคไขมัน โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เมื่อถึงช่วงที่มีการฉีด ทางชุมชนจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย และจากการฉีดวัคซีนฯ ทำให้เห็นว่าแม้จะมีอาการป่วย แต่ก็เป็นเพียงอาการเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก รวมถึงการเข้ามาบริการถึงชุมชน ทำให้เกิดความสะดวกในการเข้ารับบริการ เพราะไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล และสามารถกลับมาค้าขายตามปกติได้ 
 
ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการฉีดตลอดทั้งปี) 2. เด็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน (หมายถึง กลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนเต็มจนถึงอายุ 2 ปี 11 เดือน 29 วัน) 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป  5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 6. โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)  และ 7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้