ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาพบรรยากาศผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต12 สงขลา ลงพื้นเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพโรงพยาบาลสิเกา อ.สิเกา จ.ตรัง โดยมี นพ.วัชรนันท์ ถิ่นนัยธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิเกา และนพ.ชาญณรงค์ ขจรสุวรรณ นายแพทย์ปฏิบัติการ สรุปภาพรวมของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ

โรงพยาบาลสิเกา เป็นโรงพยาบาลอำเภอใน จ.ตรัง มีศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ ที่อยู่ในพื้นที่สปสช.เขต 12 ดูแลสถานบริการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการบูรณาการทั้งโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ซึ่งหากเกิดปัญหาจากการรับบริการ จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าไปแก้ไขปัญหาทันที และวางเป้าหมายทุกปัญหาจากข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จภายใน 3 วัน 

สำหรับแนวทางที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพใช้เป็นหลักในการลดความขัดแย้ง คือ การไกล่เกลี่ยโดยใช้ข้อเท็จจริงและหาทางออกของปัญหานั้นได้อย่างเข้าใจ ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2  ฝ่าย แต่หากบางกรณีที่ข้อมูลข้อเท็จจริงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ประชาชนยังมีสิทธิที่จะดำเนินการในช่องทางตามกฎหมายต่อไปได้ รวมไปถึงยังทำหน้าที่ให้บริการข้อมูล คำแนะนำปรึกษา จนเกิดการคลี่คลายปัญหาให้แก่ประชาชนได้ทุกสิทธิ  แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว และลดความรุนแรงของปัญหาลงได้

อย่างไรก็ดี ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลสิเกา ออกไปรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ในช่วงที่ผ่านมารวมทั้งหมด 10 เรื่อง สามารถแก้ไขปัญหาได้ถึง 9 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 โดยเข้าไปแก้ปัญหา ไกล่เกลี่ย และช่วยเหลือประชาชนที่มีข้อติดขัด โดยที่ไม่ต้องเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลสิเกา 

ทั้งนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ดูแลสิทธิ์ประชาชนด้านสุขภาพประมาณ 48 ล้านคน และทั้งหมดก็ควรเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามสิทธิ์ แต่ด้วยจำนวนคนที่มาก ทำให้การเข้าถึงสิทธิ์ในสถานบริการอาจจะขัดข้อง และหลักเกณฑ์เงื่อนไขของ สปสช. มีการปรับเปลี่ยนทุกปี ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอาจจะไม่ทราบเรื่องสิทธิการรักษาของประชาชนได้ทั้งหมด ส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาหน้างานได้ 

จากปัญหาดังกล่าววทำให้เกิดศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ ที่ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิ์การรับบริการของประชาชนคอยให้คำแนะนำ และรับเรื่องร้องเรียนเมื่อเกิดการติดขัดในการรับบริการตามสิทธิ์ ซึ่งผู้ป่วยสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลอย่างเข้าอกเข้าใจ พร้อมแก้ไขปัญหา และไกล่เกลี่ย