ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม. เห็นชอบองค์การเภสัชกรรม กู้เงิน Roll-over ครอบคลุมระยะเวลาการกู้ 5 ปี วงเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท รักษาสภาพคล่อง หลังยังเก็บหนี้ไม่ได้อีก 7,200 ล้าน


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ซึ่งมี นายเศรฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน มีมติ ‘เห็นชอบ’ ให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินในลักษณะ Roll-over ครอบคลุมระยะเวลาการกู้ 5 ปี วงเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

ทั้งนี้ สธ. รายงานว่า 1. อภ. มีภารกิจด้านสาธารณสุข ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ 1. การสนับสนุนและตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐในการผลิตและจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม 2. การจัดสรรเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน 3. การจ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานในกิจการตามโครงการและแผนงาน 4. การจ่ายชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้า

อย่างไรก็ดี ฐานะทางการเงินในปัจจุบันของ อภ. มีลูกหนี้ที่มียอดค้างชำระเป็นจำนวนมากและยังไม่สามารถเรียกเก็บได้ (ยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และหน่วยบริการในสังกัด สธ. ส่งผลให้ อภ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน

จากรายงานการรับ-จ่ายเงินสดปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ของ อภ. พบว่า เงินสดคงเหลือปลายงวดปีงบประมาณ 2566 ติดลบ (-2,395.19 ล้านบาท)2ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมข้างต้น ดังนั้น องค์การเภสัชกรรมจึงมีความจำเป็นต้องขอกู้เงินเพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจในการให้บริการประชาชนได้ตามปกติต่อไป

ข้อมูล อภ. ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 มีลูกหนี้คงค้าง รวม 7,242.94 ล้านบาท แบ่งเป็น สปสช. 4,133.72 ล้านบาท สปส. 1,013.55 ล้านบาท ลูกหนี้ภาครัฐ 1,973.33 ล้านบาท และลูกหนี้ภาคเอกชนและส่งออก 122.34 ล้านบาท โดย อภ. มีแนวทางการติดตามหนี้ค้างชำระ เช่น 1. ทุกสิ้นเดือน ส่งรายงานหนี้ค้างให้ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม (เจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม) เพื่อทราบปัญหาและติดตามหนี้ที่ค้างชำระ 2. ทุก 3 เดือน ส่งหนังสือแจ้งยอดค้างชำระให้ลูกหนี้ที่ยังคงค้างทุกราย 3. ส่งข้อมูลยอดหนี้ค้างชำระถึง สธ. เพื่อนำแสดง Dashboard ทุกสัปดาห์ เป็นต้น

นอกจากนี้ สธ. ยังรายงานต่อที่ประชุม ครม.อีกว่า คณะกรรมการ อภ. ในการประชุมครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยให้ อภ. ไปพิจารณาทบทวนวิธีหาแหล่งเงินให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้การดำเนินการต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงิน ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ หนังสือ และขั้นตอนที่กระทรวงการคลัง กำหนด

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบให้ อภ. กู้เงินจำนวน 3,000 ล้านบาท ในลักษณะ Roll-over คลอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดย กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เพื่อสำรองกรณีที่เงินสดคงเหลือปลายงวดในแต่ละเดือนต่ำกว่ายอดเงินสดขั้นต่ำที่ต้องคงไว้ หรือต่ำกว่ายอดประมาณการรายจ่ายต่อเดือน