ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้แทน 5 พรรคการเมือง ร่วมเวทีรำลึก “15 ปี หมอสงวน” พร้อมเปิดนโยบาย “สร้างหลักประกันรายได้ – บำนาญประชาชนให้คนสูงวัย” สอดคล้องมติสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 15 ทุกพรรคเห็นพ้องต้องมีระบบการเงินที่เหมาะสมและขยายเวลาทำงานของผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัย


มูลนิธิมิตรภาพบำบัด ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และเครือข่ายผุ้ป่วยโรคเรื้อรัง จัดเวทีเสวนาเรื่อง นโยบายบำนาญแห่งชาติ จากผู้แทนพรรคการเมือง ภายใต้งานรำลึก 15 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ กรุงเทพฯ มีผู้แทนจาก 5 พรรคการเมืองใหญ่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วม เพื่อแสดงนโยบายการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับคนไทยเมื่อเป็นผู้สูงอายุ ผ่านกระบวนการทางการเมืองและการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยคือการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับผู้สูงอายุ และเห็นด้วยที่จะต้องมีการสร้างหลักประกันรายได้ หรือบำนาญประชาชน แต่ต้องมีการศึกษารายละเอียดว่าสิ่งใดจะทำได้ก่อน-หลังอย่างไร ซึ่งจากการสำรวจพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุในปัจจุบันยังทำงานอยู่ โดย 63% อยู่ในภาคเกษตรกรรม และอีก 17% เป็นแรงงานนอกระบบ

ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ จะดูเฉพาะเรื่องเงินบำนาญอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งทราบว่ามีการเสนอบำนาญฯ 3,000 บาท/คน/เดือน ตรงนี้คือปีละ 4.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของงบประมาณแผ่นดิน หากทำจริงก็คงไม่ต้องทำอย่างอื่น ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำคือการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับทุกภาคส่วน และยังมีโครงการที่เรียกว่า ‘1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนด้วย

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่หลายประเทศรวยแล้ว ส่วนไทยยังจนอยู่ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดระบบออมเงินให้กับประชาชนมาพอสมควร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการให้ประชาชนที่ออมเงินในระบบการเงินของรัฐ สามารถนำเงินออมนั้นๆ ออกไปลงทุนตามความต้องการของตัวเอง หรือซื้อที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งเป็นการลงทุนและเป็นอีกช่องทางในการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนวัยทำงานให้พร้อมสู่การเกษียณ

1

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายบำนาญเพื่อผู้สูงอายุ โดยเป็นการให้สวัสดิการเงินอุดหนุนรายเดือน ซึ่งมีตัวเลขที่เหมาะสมอยู่ในใจแล้วแต่ยังเปิดเผยไม่ได้ โดยความท้าทายคือต้องหางบประมาณปีละ 4.5 แสนล้านบาท มาดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องมีมาตรการทางภาษีตามมา และการตัดลบงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในปี 2563 พรรคก้าวไกลได้ศึกษาตัวเลขบำนาญสำหรับประชาชนว่าควรมีจำนวนเท่าใด ซึ่งพบว่าหากขยับเงินสวัสดิการที่รัฐช่วยเหลือผู้สูงอายุไปเป็นเดือนละ 3,000 บาท จะทำให้มีประชาชนหรือผู้สูงอายุที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนเพียงแค่ 1% เท่านั้น ขณะที่คนวัยทำงาน ต้องเน้นเรื่องการออมเงินและการเพิ่มรายได้จากการออม

ดร.เดชรัต กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเพียง 1 ใน 3 จากทั้งหมด 12 ล้านคน ที่มีการออม ส่วนที่เหลือไม่มี ฉะนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าต้องเติมสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในทันที ในอัตราที่สมเหตุสมผลนั้น ควรอยู่ที่ 3,000 บาท/คน/เดือน ควบคู่ไปกับการตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาวด้วย เพราะมีผู้สูงอายุมากถึง 30% ที่ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน หากเจ็บป่วยติดบ้าน-ติดเตียง จะมีปัญหา ทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณประมาณ 4.2 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งเงินจะมาจากการปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น งบประมาณกองทัพ เป็นต้น รวมไปถึงการเพิ่มภาษีจากแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น ภาษีความมั่งคั่งจากบุคคลที่มีสินทรัพย์มากกว่า 300 ล้านบาทขึ้นไป การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลแบบขั้นบันได การจัดเก็บภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ซึ่งอาจส่งผลให้ภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 16% ของจีดีพีประเทศ แต่เป็นตัวเลขที่ทุกคนรับได้อย่างแน่นอน

“แต่เราไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับลดงบประมาณ การออกกฎหมายต่างๆ อีกทั้งการจัดระบบสำหรับสวัสดิการอื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกช่วงวัยยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่เชื่อได้ว่าในระยะ 4 ปีจะเห็นรูปธรรม และเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน” ดร.เดชรัต กล่าว

รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ในปีงบ 2565 มีการจัดสรรงบเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท ใช้งบอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และหากมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพในตัวเลขที่เหมาะสมคือเพิ่มเป็น 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงแรกอาจต้องมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตก่อน ส่วนการให้อย่างเสมอหน้าทุกคนนั้น ขอให้เป็นเรื่องอนาคต

นอกจากนี้ พรรคไทยสร้างไทยกำลังศึกษากฎหมายให้มีการเรียนจบปริญญาตรีตั้งแต่อายุ 18 ปี เพื่อให้มีทรัพยากรบุคคลเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วขึ้น และมีโอกาสในการสร้างตัวได้เร็วขึ้น

รศ.ดร.โภคิน กล่าวด้วยว่า งบประมาณจะต้องมีการปฏิวัติระบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในส่วนการลงทุนที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากว่าโครงสร้างต่างๆ รวมไปถึงต้องตัดลบงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น งบประมาณกองทัพ งบประมาณสร้างถนนที่จัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม และการจัดการทางภาษี เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณประมาณเพียงพอต่อการบริหารเพื่อดูแลประชาชนอย่างถ้วนหน้า

2

ขณะที่ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้แทนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยสนับสนุนให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ระบบบำนาญแห่งชาติ และการสร้างหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าเพื่อประชาชน ให้กับประชาชนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเสนอให้บรรจุเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นรูปแบบสงเคราะห์เหมือนปัจจุบันที่ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพคนชราไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ทั้งนี้ เบื้องต้นเห็นว่าต้องมีงบประมาณที่จะเข้ามาสนับสนุนระบบสวัสดิการของรัฐให้เกิดรูปธรรม ซึ่งงบประมาณจะต้องมีการปฏิรูป ลดงบประมาณที่ไม่คุ้มค่าออกไป และเพิ่มงบประมาณที่ลงทุนกับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยชรา รวมทั้งควรต้องมีบริการสุขภาพไปหาประชาชนให้มากขึ้นด้วย

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วิสัยทัศน์และข้อเสนอจากผู้แทน 5 พรรคการเมือง สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองต่างให้ความสำคัญกับระบบรองรับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะเรื่องการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับประชาชนแทบทั้งสิ้น จะต่างกันที่รายละเอียด วิธีการและประเด็นเน้นหนักในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เรื่องหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

นพ.ประทีป กล่าวว่า การเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 ถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทย ที่พรรคการเมืองต่างๆ จะได้นำเสนอนโยบาย และรูปธรรมการสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยที่มาอย่างรวดเร็ว และช่วงเวลาที่ประชาชนจะได้ร่วมกันส่งเสียง แสดงออกถึงภาพฝันการพัฒนาประเทศที่พึงประสงค์ และการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ให้นักการเมือง-พรรคการเมืองที่ขันอาสาเข้ามาบริหารประเทศ ได้รับทราบและหยิบยกมติสมัชชาสุขภาพดังกล่าวนี้ไปประกอบการจัดทำเป็นนโยบาย และประกาศเป็นสัญญาณประชาคมกับประชาชนต่อไป