ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เหตุการณ์ยาโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ “ขาดคราว” ในช่วงที่ผ่านมา อันมีสาเหตุสำคัญมาจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วง 2-3 เดือนก่อน ซึ่งนำไปสู่ความต้องการใช้ยาที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า

เป็นสิ่งที่ “องค์การเภสัชกรรม” (อภ.) เห็นเค้าลางมาก่อนแล้ว และได้เร่งเพิ่มกำลังผลิตยาอย่างเต็มพิกัด 24 ชั่วโมง ทว่า ด้วยจำนวนผู้ป่วยยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่ลดละ ที่สุดแล้วจึงไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการได้ทันท่วงที 

ทำให้ในหลายโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือแม้แต่โรงพยาบาลเอกชนเหลือโอเซลทามิเวียร์น้อยลงไปเรื่อยๆ หรือบางแห่งก็เกิดการ “ขาดแคลน” จนกรมการแพทย์ต้องออกไกด์ไลน์การใช้ “ฟาวิพิราเวียร์” มาเสริมเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566

ถึงต่อมาสถานการณ์ดังกล่าวจะสามารถคลี่คลายได้ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งครั้งที่มีเสียง จาก เภสัชกร นักวิชาการด้านยา อดีตอาจารย์ ภาคประชาสังคม ฯลฯ ซึ่งสะท้อนออกมาว่า “ระบบยา” ของประเทศยังคงต้องการการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 

เช่นความเห็นของ ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ อดีตประธานชมรมเภสัชชนบท และเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี 2556 ที่บอกกับ “The Coverage” ว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีระบบบริหารจัดการเรื่องการขาดแคลนยาได้ดีพอสมควร แต่สำหรับการขาดคราวในกรณียาที่เคยใช้ได้ปกติแต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น อาทิ การเกิดโรคระบาด ขาดแคลนวัตถุดิบ ฯลฯ จนทำให้สะดุดนั้น พบว่ายังไม่เคยเห็นการบริหารอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด

1

นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอทางออกในระยะยาวสำหรับแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่มีการพูดคุยกันมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการเดินหน้าต่อเท่าที่ควร 

นั่นก็คือการตั้ง “ศูนย์บริหารการขาดคราว-ขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์” ที่จะทำหน้าที่ทำนายสถานการณ์ของโรคและติดตามสถานการณ์ทรัพยากรยาที่มีอยู่ในประเทศในขณะนั้นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น หากรู้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาด ก็จะได้ทราบว่ามียาตัวใดที่เกี่ยวข้องกับการรักษา และขณะนั้นมียาดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนจัดหายาให้เพียงพอ  

แนวคิดนี้ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก เมื่อ พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ อภ. บอกกับ “The Coverage” ว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าจะมีการตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น 

พร้อมกับหยิบยกตัวอย่างปัจจัยที่อาจนำมาต่อยอดเป็น “โมเดล” ได้ อย่าง โปรแกรม “NAP PLUS” (แน็ปพลัส) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ช่วยให้การบริหารจัดการยาให้กับผู้ป่วยเอชไอวี ทั่วประเทศ ซึ่ง พญ.มิ่งขวัญ บอกว่า เป็นระบบเดียวในประเทศที่บริหารจัดการคลังยาได้อย่างมี “ประสิทธิภาพมากที่สุด” 

จากจุดนี้จึงน่าสนใจว่า “NAP PLUS” มีการทำงานอย่างไร จึงสามารถทำให้ได้รับการยืนยันจาก ผู้อำนวยการ อภ. ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในประเทศ และจะต่อยอดมาสู่การตั้ง “ศูนย์บริหารการขาดคราว-ขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์” ได้ไหม

เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดจากทั้งเว็บไซต์ของ สปสช. และงานวิจัย “การศึกษาทบทวนระบบและพัฒนาข้อเสนอการบริหารเวชภัณฑ์จำเป็นที่มีปัญหาการเข้าถึงภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ของคณะผู้วิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพรพหว่างประเทศ (IHPP) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่เผยแพร่ในคลังข้อมูลสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

จากข้อมูลทำให้เห็นว่า “NAP PLUS” คือ ระบบบันทึกข้อมูลการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์แห่งชาติ (National Aids Program) ซึ่ง สปสช. พัฒนาขึ้นจากระบบเดิมเมื่อ 1 เม.ย. 2558

4

จุดเด่นคือ กำหนดให้ระบบคำนวณปริมาณการเบิกจ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ และยาลดระดับไขมันในเลือดจากการบันทึกผลผ่านโปรแกรมของ สปสช. เท่านั้น เพื่อลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการเบิกจ่ายยา รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการขาดยาต้านไวรัสเอดส์ และยาลดระดับไขมันในเลือดในหน่วยบริการด้วย 

สำหรับการเบิกจ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ผ่านระบบ “NAP PLUS” มีขั้นตอนดำเนินงาน อยู่ 6 ขั้นตอนด้วยกัน ประกอบด้วย 1. หน่วยบริการลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรม NAP PLUS  2.  หน่วยบริการขอสำรองยาเริ่มต้น โดยเข้าสู่ระบบ VMI และเลือกที่ต้องการขอสำรอง พร้อมระบุปรเมาณการใช้ต่อเดือน ระยะเวลาสูงสุดของการสำรองยา ซึ่งยาที่ขอสำรองจะถูกจัดส่งตรงไปยังหน่วยบริการ 

3. หน่วยบริการบันทึกข้อมูลการรักษา การติดตามผลผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่โปรแกรม NAP PLUS เมื่อมีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วย 4. ข้อมูลการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ จะถูกส่งต่อผ่านระบบ VMI ไปยัง อภ. 5. หน่วยบริการตรวจสอบและยืนยันการเบิกจ่ายยา (inventory) เพื่อให้อภ.จัดส่งยา และ 6. อภ.จัดส่งยาให้หน่วยบริการ ในกรณีที่ระบบ VMI ตรวจสอบพบว่ายาคงคลังของหน่วยบริการน้อยกว่าจุดสั่งซื้อ 

ทั้งนี้ เมื่อข้อมูลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ เข้าสู่ระบบ “NAP PLUS” ที่หน่วยบริการลงทะเบียนในระบบ จะได้หมายเลขที่เรียกว่า NAP number ซึ่งเป็นการบ่งบอกตัวตนแทนชื่อ-นามสกุล ที่จะปกปิดเอาไว้เพื่อเป็นความลับของผู้ติดเชื้อ และเป็นหลักประกันว่าชื่อ-นามสกุลจะไม่ถูกเปิดเผย ไม่ถูกเรียกขาน เมื่อต้องติดต่อกับหน่วยบริการ  

ส่วนหน่วยบริการเอง ก็จะบันทึกข้อมูลของผู้ติดเชื้อ อาทิ การตรวจรักษา สถานะของการให้ยาเพื่อรักษาต่อเนื่อง การตรวจโรคข้างเคียงจากเชื้อ HIV ตามกำหนดการ เป็นอาทิ ซึ่งจะบันทึกข้อมูลลงตรงหมายเลข NAP number ของผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่การระบุชื่อ-นามสกุล 

4

สำหรับข้อมูลของผู้ติดเชื้อจาก NAP number จะบอกถึงสถานการณ์สุขภาพ ภาวะการติดเชื้อเอชไอวี ในปัจจุบัน แนวโน้มของอาการ รวมไปถึงติดตามการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาอาการ ซึ่งเป็นรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยทั้งประเทศ โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้กรอกข้อมูล และเข้าถึงข้อมูลได้ จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบจากหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งจะเรียกว่า HIV Coordinator และแน่นอนว่าประชาชนทั่วไป ใช้ระบบโปรแกรมนี้ไม่ได้ เป็นของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น 

ดังนั้น “NAP PLUS” จึงสามารถบอกข้อมูลทุกมิติเกี่ยวกับการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศได้ทั้งหมด และที่สำคัญ หน่วยบริการสามารถติดตามประเมินผลการรักษาของผู้ป่วยแบบรายเคส และใช้ข้อมูลนี้เพื่อวางแผนสถานการณ์ยาต้านไวรัสที่ต้องให้กับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) บอกกับ “The Coverage” เช่นกันว่า “NAP PLUS” จะให้ข้อมูลหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องยาที่ใช้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะบอกได้ว่า ยาในโรงพยาบาลมีสต็อกอยู่เท่าไหร่ หากต่ำกว่าสต็อก เจ้าหน้าที่ก็ต้องเติมยาเข้าไปในระบบให้เต็มจำนวน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงพยาบาลจะมียาใช้กับผู้ป่วย

อีกจุดเด่นของ “NAP PLUS” คือการทำให้ผู้กำหนดนโยบายได้เห็นภาพรวมของผู้ติดเชื้อ เอชไอวี ทั้งการให้การรักษา การติดตามอาการ ปริมาณการใช้ยาสำหรับผู้ป่วย รวมไปถึงยังเห็นว่า พื้นที่ใดที่ยังไม่ได้ให้บริการ หรือมีปัญหาการให้บริการ 

นอกจากนี้ ภญ.สมฤทัย สุพรรณกูล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ สปสช.  ให้ภาพถึงหลักการของระบบนี้เพิ่มเติมกับ “The Coverage” ว่า โปรแกรมนี้มีหลักการสำคัญคือ ผู้ป่วยโรคนี้อาจจะไม่อยากเปิดเผยตัวต่อสังคม ดังนั้น ระบบ “NAP PLUS” จะมีรหัสเฉพาะตัวของผู้ป่วย ที่จะปกปิดข้อมูลส่วนตัวเอาไว้ ทำให้สามารถไปรับยาที่ไหนก็ได้ สปสช. ก็จะจัดหายาให้กับหน่วยบริการ โรงพยาบาลเพื่อใช้บริการกับผู้ป่วย

4

ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล และแพทย์ได้ตรวจและพบว่าป่วยเป็นโรคเอดส์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการให้ยา เมื่อมีการให้ยาและโรพยาบาลคีย์ข้อมูลเข้าสู่ระบบ “NAP PLUS” ระบบจะประมวลผลการใช้ยาจากโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ส่งให้กับอภ. เพื่อเติมยาเข้าสุ่ระบบให้เพียงพอ 

“เช่น โรงพยาบาล A ต้องการยาชนิด 1 ในจำนวนเท่านี้ และชนิดที่ 2 ในจำนวนเท่านี้ ระบบจะประมวลผลและส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้ อภ. เพื่อจัดส่งยา ทำให้โรงพยาบาลไม่ขาดแคลนยาสำหรับจ่ายให้กับผู้ป่วย ซึ่งเป็นระบบเดียวกันที่ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ทั้งสามกองทุน” ภญ.สมฤทัย กล่าว 

ภญ.สมฤทัย กล่าวอีกว่า ระบบของ “NAP PLUS”  ยังเป็นระบบที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการ หรือโรงพยาบาล ให้บริการตรวจสุขภาพด้านอื่นๆ ที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ด้วย เช่น การคัดกรอง การตรวจภาวะตับอักเสบ การให้คำปรึกษา ที่เป็นบริการสุขภาพนอกหนือไปจากการใช้ยาเพื่อทำการรักษา

อย่างไรก็ตาม แม้ “NAP PLUS” จะเป็นระบบที่ดี มีประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ติดเชื้อ และผู้ให้บริการ แต่ก็ยังไม่มี “เจ้าภาพหลัก” ที่รับผิดชอบข้อมูล หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการสั่งการไปยังพื้นที่ที่มีปัญหาการให้บริการกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นจุดที่ต้องเสริมขึ้นมา 

ทว่า หากเป้าหมายคือการตั้ง “ศูนย์บริหารการขาดคราว-ขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์” สิ่งสำคัญในตอนนี้ก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง และเดินหน้าต่อมากกว่านี้ โดยไม่ปล่อยให้หายไป แล้วรอเกิดปัญหาขึ้น ถึงพูดถึงกันใหม่ทุกครั้งวนในวงจรนี้ไปเรื่อยๆ