ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. ระบุ ผู้ประกันตน ‘ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ’รับการตรวจ-รักษาได้แล้วที่โรงพยาบาลตามสิทธิ หลัง สปส. ไฟเขียวให้เบิก ‘ค่าตรวจการนอนหลับ-เครื่อง CPAP’ ได้เท่าสิทธิสวัสดิการข้าราชการ 


น.ส.ปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ และรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงการที่ สปส. ให้สิทธิผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ และจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ ว่า การให้สิทธิข้างต้น สืบเนื่องจากการพบว่าปัญหาที่เกิดจากโรคดังกล่าวมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน ทั้งการส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไหลตาย ฯลฯ รวมถึงไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพราะมีอาการอ่อนเพลีย งีบหลับ ฯลฯ จากการพักผ่อนในช่วงกลางคืนไม่เพียงพอ 

ดังนั้น สปส. จึงได้มีการหารือร่วมกับสมาคมโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ และอุปกรณ์การรักษานั้น เพื่อพิจารณาถึงความสำคัญ และเหตุผลอีกหลายข้อประกอบกัน ก่อนเห็นว่าควรสนับสนุนค่าบริการในการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับให้กับผู้ประกันตนที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้

น.ส.ปาริฉัตร กล่าวต่อไปว่า โดยการให้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาสำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับนั้น เป็นการจ่ายเพิ่มเติม (Additional Payment) ให้กับโรงพยาบาลตามสิทธิ หากมีการวินิจฉัยและมีข้อบ่งชี้จากแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ฉะนั้นผู้ประกันสามารถเข้ารับการรักษาได้เลยที่โรงพยาบาลตามสิทธิ

ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลตามสิทธิไม่มีแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับโรคจากการนอนหลับ ทางโรงพยาบาลตามสิทธิจะทำการส่งต่อผู้ประกันตนไปยังโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมที่มีศักยภาพในระดับสูงกว่าได้ โดยที่ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เหมือนกับการรักษาโรคที่มีความเฉพาะอื่นๆ 

“โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับมีผลต่อคุณภาพชีวิต และมีผลกระทบต่อผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ขณะเดียวกัน กรมบัญชีกลางก็ได้ให้บริการ และอุปกรณ์สำหรับผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการมาระยะหนึ่งแล้ว จึงมองว่าตรงนี้ก็มีความจำเป็นที่อยากให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ” น.ส.ปาริฉัตร ระบุ 

น.ส.ปาริฉัตร กล่าวทิ้งท้ายว่า การให้สิทธิสำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับนั้น สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นประเด็นหลักที่ทาง สปส. กำลังขับเคลื่อน และให้ความสำคัญอีกด้วย เพราะถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้ในอนาคตจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) หรือโรคอื่นๆ ได้