ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถึงวันนี้ เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากเริ่มที่จะรู้จักโครงการ "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" กันบ้างแล้ว

แน่นอนว่า นอกเหนือจากการไปรับบริการในโรงพยาบาลรัฐที่ไหนก็ได้ใน 12 จังหวัดนำร่องแล้ว ความพิเศษอีกอย่างคือโครงการนี้ยังมี “คลินิกเอกชน”ประเภทต่างๆ เข้ามาร่วมให้บริการด้วย 

หมายความว่า จากเดิมที่เวลาไปรับบริการที่คลินิกแล้วต้องจ่ายเงินเอง แต่ตอนนี้ประชาชนสามารถใช้สิทธิบัตรทองไปรับบริการในคลินิกที่ร่วมโครงการได้ฟรี

ที่สำคัญกว่านั้นคือ การเข้าร่วมโครงการของคลินิกเอกชน จะทำให้ประชาชนสามารถไปรับบริการใกล้บ้าน ไม่ต้องรอคิวนานเหมือนไปโรงพยาบาล อีกทั้งเปิดทำการในเวลาที่ยืดหยุ่นกว่าโรงพยาบาลของรัฐ 

โดยรวมแล้วทำให้อัตราการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง จะมีทั้งหมด 7 ประเภท คือ 1. ร้านยา 2. คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น 3. คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 4. คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 5. คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 6. คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น และ 7. คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น 

แต่จากการนำร่องโครงการตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน คลินิกประชาชนชื่นชอบมากที่สุดคือ “คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น”

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เล่าว่า บริการด้านทันตกรรมเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองชื่นชอบมากที่สุด โดยในช่วงนำร่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เฟสที่ 1-2 มีคลินิกทันตกรรมเอกชนร่วมให้บริการทั้งหมด 106 แห่ง มีการให้บริการประชาชนไปแล้วประมาณ 1 หมื่นคน หรือคิดเป็นจำนวนการรับบริการมากกว่า 1.5 หมื่นครั้ง หรือเฉลี่ย ประชาชน 1 คนมารับบริการ 1.5 ครั้ง

"จากการสอบถามประชาชนว่ามาใช้บริการแล้วเป็นยังไงบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่าประชาชนมีความสุขมากเลยเพราะได้เข้าถึงบริการโดยที่ใช้เวลาน้อย ไม่ต้องรอคอยนานเหมือนเมื่อก่อน ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย และคลินิกทันตกรรมก็มีการกระจายมากขึ้น" ทพ.อรรถพร กล่าว

ทั้งนี้ บริการทันตกรรมที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถไปรับบริการที่คลินิกได้ฟรีจะมี 5 รายการ ได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน การเคลือบหลุมร่องฟัน และการเคลือบฟลูออไรด์ โดย สปสช.ให้สิทธิในการรับบริการ 3 ครั้ง/ปี

แม้จะดูเหมือนน้อย แต่ตัวเลขนี้ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่าสามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ สปสช. สามารถจัดสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนได้โดยไม่เป็นภาระงบประมาณมากเกินไป 

อย่างไรก็ดี หากใช้สิทธิรับบริการครบ 3 ครั้งแล้ว และยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อ ก็ยังสามารถไปรับบริการได้ที่หน่วยบริการประจำของตนเองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม

ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า ทันตแพทยสภา มองภาพของคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมให้บริการในโครงการนี้ว่าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ดังนั้น การให้บริการจึงไม่ใช่แค่ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน แต่จะดูแลประเมินความเสี่ยงของสุขภาพช่องปากของผู้รับบริการและวางแผนการรักษาทั้งหมด จากนั้นจึงจะทำหัตถการที่จำเป็น ซึ่งในขณะนี้ สปสช. กำหนดให้ใช้สิทธิรับบริการได้ฟรีไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี

ดังนั้น หากปัญหาสุขภาพในช่องปากยังรักษาได้ไม่หมด ในครั้งที่ 4, 5 หรือ 6 ก็สามารถไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าสามารถจ่ายได้เองก็รับบริการต่อเนื่องที่คลินิกเลย

สำหรับเป้าหมายการเพิ่มจำนวนคลินิกทันตกรรมเอกชนให้เข้ามาร่วมให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองนั้น ทพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศประมาณ 7,000 แห่ง ถ้าหักคลินิกในพื้นที่ กทม.ออก จะเหลือประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ในจำนวนนี้ ทันตแพทยสภาตั้งเป้าว่าจะมีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมประมาณ 25% หรือประมาณ 1,000 แห่ง

เมื่อมองในภาพรวมไปแล้ว ลองมาฟังมุมมองจากคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้กันบ้างว่าคิดเห็นอย่างไร ทำไมถึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายบริการกับ สปสช.

ทพ.อดิเรก วัฒนา ผู้ก่อตั้งคลินิกทันตกรรม ทันตแพทย์อดิเรก จ.แพร่ หนึ่งในคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทอง กล่าวว่า โดยหลักการแล้วโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นมิติใหม่ของวงการสุขภาพ ตนจึงศึกษาข้อมูลและปรึกษากับทีมงานและตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช. โดยมีการเตรียมการเพิ่มจำนวนทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์เพื่อรองรับจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มขึ้น 

ตลอดจนวางแผนการให้บริการให้เป็นที่พึงพอใจแก่ทั้งผู้ใช้สิทธิบัตรทองและผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง เช่น การจัดช่องทางบริการที่เป็นสัดส่วน การจัดระบบนัดหมายเพื่อไม่ให้ผู้รับบริการต้องรอคิวนาน เป็นต้น

หลังจากที่เริ่มให้บริการตามนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ พบว่าประชาชนให้การตอบรับที่ดีมาก ทั้งในแง่ของจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มขึ้น และความพึงพอใจของผู้รับบริการที่รู้สึกสะดวกรวดเร็วขึ้น

"ประชาชนที่มารับบริการพอใจมาก เพราะจากเดิมที่ต้องไปโรงพยาบาล ต้องรอคิวนาน สถานที่มีความแออัด ก็สามารถมารับบริการที่คลินิกเอกชนซึ่งสะดวกกว่า ที่สำคัญคือระยะเวลาการให้บริการของเอกชนมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับวิถีชีวิตมากกว่า ถ้าไปโรงพยาบาลรัฐต้องไปในเวลาราชการ แต่มาคลินิกเอกชนก็มาช่วงเย็นหลังเวลางานได้ ล่าสุดมีผู้ปกครองพาลูกมาทำฟันหลังเลิกเรียน เด็กไม่ต้องขาดเรียน ผู้ปกครองก็ไม่ต้องเสียเวลางาน ค่าใช้จ่ายทางอ้อมก็ลดลงไปได้เยอะ หรือบางคนที่ไม่รู้ว่ามีโครงการนี้ พอรับบริการแล้วพบว่าไม่ต้องจ่ายเงิน เขาก็รู้สึกประหลาดใจและดีใจมาก" ทพ.อดิเรก กล่าว

ทพ.อดิเรก กล่าวอีกว่า การที่คลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมให้บริการในระบบบัตรทองถือว่าเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ในส่วนของประชาชนเข้าถึงบริการปฐมภูมิด้านทันตกรรมมากขึ้น ทำให้การเจ็บป่วยนั้นได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เช่น ได้รับการอุดฟันอย่างทันท่วงที รอยโรคก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ไม่ลุกลามไปถึงขั้นถอนฟันหรือรักษารากฟันในอนาคต หรือถ้าได้รับการขูดหินปูน ก็จะลดโอกาสในการเป็นเหงือกอักเสบ ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่า 

ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐก็ได้กระจายงานรักษาขั้นพื้นฐานมาที่ภาคเอกชน ทำให้สามารถเอาเวลาไปดูแลงานเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น เช่น ผ่าฟันคุด รักษารากฟัน ฯลฯ ทำให้ระยะเวลารอคิวในโรงพยาบาลสั้นลง ส่วนคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการก็จะมีปริมาณงานมากขึ้น ได้รับเงินชดเชยค่าบริการในอัตราที่ยอมรับได้ และเป็นที่รู้จักของชุมชนมากขึ้น

เช่นเดียวกับ ทพ.โปรัตน์ อยู่ไทย คลินิกทันตกรรมโปรัตน์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า หลังจากที่เข้าร่วมให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีประชาชนมารับบริการเพิ่มขึ้นถึง 20% ส่วนตัวแล้วรู้สึกพึงพอใจค่อนข้างมาก เนื่องจากได้ช่วยให้ประชาชนรับบริการได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องไปรอคิวตั้งแต่ตี 3-4 

ที่สำคัญคือในจำนวนผู้มารับบริการที่เพิ่มขึ้นนี้มีผู้สูงอายุสิทธิบัตรทองที่ไม่เคยไปรับบริการทันตกรรมที่หน่วยบริการเลยสักครั้งในชีวิต ด้วยข้อจำกัดบางอย่างทำให้เลือกไม่ไปรับบริการหรือเข้าไม่ถึงบริการ แต่มารับบริการที่คลินิกฯ เป็นครั้งแรก จึงกล่าวได้ว่าหากไม่มีนโยบายในลักษณะนี้ จะมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจไม่ได้บริการทันตกรรมเลยตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่สุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง

ขณะที่ ทพ.นฤชิต ทองรุ่งเรืองชัย เจ้าของคลินิกโนนสังทันตกรรม อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ให้ความเห็นว่า การเข้าร่วมโครงการกับ สปสช. ประโยชน์ที่คลินิกจะได้รับคือเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น มีจำนวนผู้รับบริการมากขึ้น ส่วนการดูแลเราจะพูดคุยกับคนไข้อยู่แล้วว่าจะมีการตรวจแล้ววางแผนการรักษา ถ้าเป็นการรักษาขั้นพื้นฐานเราก็ให้บริการได้เลย แต่ถ้าเป็นการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนก็จะแนะนำให้ไปที่โรงพยาบาล เป็นต้น โรงพยาบาลก็จะได้ลดความแออัด คนไข้ก็มีความสะดวก มีช่องทางรับบริการที่หลากหลายมากขึ้น

"อยากฝากถึงเพื่อนๆทันตแพทย์ว่าเวลาทำจริงๆ ตอนสมัครอาจมีขั้นตอนหลายขั้นตอน แต่ถ้าผ่านขั้นตอนการสมัครแล้ว กระบวนการเบิกจ่ายต่างๆก็เป็นไปตามที่ สปสช. สัญญาไว้ และการใช้งานโปรแกรมต่างๆก็ไม่ยาก ถ้าเทียบประโยชน์ที่ได้เมื่อเทียบกับการลงทุนแล้วถือว่าคุ้มค่า ก็อยากเชิญชวนให้มาร่วมโครงการนี้กันเยอะๆ จะเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย" ทพ.นฤชิต กล่าว

ด้าน นางสาวอุมาพร ผู้รับบริการจากคลินิกทันตกรรมโปรัตน์ กล่าวว่า เมื่อได้มารับบริการที่คลินิกแล้วรู้สึกว่าชอบมาก ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก เมื่อก่อนต้องไปรอคิว กว่าจะได้ทำฟันที่โรงพยาบาลต้องรอคิวตั้งแต่ตี 3 พอมารับบริการที่คลินิกแล้วได้รับบริการอย่างรวดเร็ว จึงรู้สึกชอบมาก และนอกจากใช้บริการในพื้นที่แล้วยังไปใช้บริการนอกพื้นที่ได้ด้วย ตนเคยเดินทางไป กทม. ก็ไปรับบริการที่นั่น ก็ใช้บริการเลยโดยไม่เสียเงิน ดังนั้นจึงอยากให้มีบริการแบบนี้ทั่วประเทศ ประชาชนจะได้ไปรับบริการได้อย่างสะดวก