ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอธีระ หวั่น ยกระดับสิทธิบัตรทองจากรัฐบาล ให้ผู้ป่วยเลือก รพ. ที่ชอบได้เองทุกที่ อาจกระทบการรักษา-บุคลากรทางการแพทย์ภาระงานมากขึ้น เหตุผู้ป่วยจะเทเข้า รพ.ใหญ่ แนะรักษามาตรฐานสิทธิ์ UCEP คู่ไปกับพัฒนาหน่วยบริการระดับพื้นที่ จะเป็นการยกระดับ ทั้งบัตรทอง-ระบบบริการ 


จากกรณีที่โฆษกรัฐบาลแถลงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (กค.) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก วันที่ 13 ก.ย. 2566 ซึ่งในด้านสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ตั้งคณะทำงานยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้มีผลเร็วที่สุด เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ 

พร้อมกันนี้ โฆษกรัฐบาล ยังแถลงด้วยว่า หนึ่งในการยกระดับบัตรทองในครั้งนี้ จะเป็นการทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองแต่ละคนไม่มีโรงพยาบาลประจำของตนเอง แต่ใครสะดวกหรือชอบโรงพยาบาลไหนสามารถไปรับการดูแลรักษาได้เลย เช่นเดียวกับประกันของเอกชนดูแล

ทาง รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงการจะยกระดับดังกล่าวว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยจะมี 2 ประเภท คือ 1. การรักษาแบบฉับพลัน ฉุกเฉิน หรือกรณีเร่งด่วนที่ต้องรักษาทันที เป็นกลุ่มที่ต้องได้เข้าถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดที่ใดก็ได้ ซึ่งเป็นสิทธิ UCEP ที่มีอยู่แล้ว และ 2. เป็นการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Chronic condition) รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)  ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งต้องได้รับการดูแลที่แตกต่างออกไป 

ทั้งนี้ การจะยกระดับบัตรทอง ด้วยการให้ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 เข้าถึงได้ทุกโรงพยาบาล อาจมีผลกระทบต่อผลการรักษาของผู้ป่วย รวมถึงมีผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากต้องยอมรับว่า ปัจจุบันทัศนคติของประชาชน ยังเชื่อมั่นศักยภาพการให้บริการจากโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดมากกว่า ซึ่งแนวทางดังกล่าว อาจทำให้ผู้ป่วยเลือกเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งใดแห่งเดียวมากขึ้น และจะยิ่งทำให้เกิดความแออัด 

รศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อไปว่า ได้เคยทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง และโรค NCDs ในประเทศไทย โดยพบว่าในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลาย และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากจำนวนผู้ป่วยในส่วนนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น การบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพ ระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ จะต้องมีความสัมพันธ์กัน และกระจายการเข้าถึงอย่างครอบคลุม 

"โดยเฉพาะการเชื่อมต่อการทำงานระบบบริการสุขภาพระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิ และโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นแม่ข่ายในพื้นที่ ที่อาจจะต้องเน้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อดูแลประชาชนในแต่ละภูมิภาค แต่การให้สิทธิผู้ป่วยสามารถเลือกโรงพยาบาลเองได้ หรือ Shopping Around ก็อาจมีผลกระทบมากกว่าตามมา แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับความสะดวกก็ตาม" รศ.นพ.ธีระ กล่าว 

นอกจากนี้การให้ผู้ป่วยสามารถเลือกโรงพยาบาลได้เรื่อยๆ ก็อาจมีผลกระทบกับผู้ป่วยในการรักษาได้ ซึ่งอาจต้องระวังถึงผลกระทบต่อผู้ป่วยด้วยเช่นกันถ้าจะดำเนินการ 

ทั้งนี้ การส่งต่อของเครือข่ายระบบบริการเป็นสิ่งที่ควรจะเริ่มเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน รวมถึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งน่าจะได้ผลที่ดีกว่าและเป็นผลรูปธรรมที่จับต้องได้มากกว่า หากจะยกระดับการให้บริการสิทธิบัตรทอง 

"แต่หากเป็นฉุกเฉินเข้าได้ทุกที่ ก็ต้องรักษาและยกระดับมาตรฐานของเดิมให้ดี และต่อเนื่องด้วยระบบบริการสุขภาพสำหรับโรคเรื้อรัง และ NCDs ที่มีประสิทธิพภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับพัฒนาหน่วยบริการในภูมิภาค น่าจะเป็นการยกระดับบัตรทองที่ดีกว่าการให้ผู้ป่วยเลือกโรงพยาบาลที่ชอบใจได้เอง ซึ่งอาจมีผลกระทบที่มากกว่า และรัฐบาลอาจต้องระมัดระวังกับการดำเนินการ" รศ.นพ.ธีระ กล่าว