ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ชี้ 5 แนวทางในการลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ผ่านระบบบัตรทอง ที่ สปสช. ประกาศ บรรเทาปัญหาได้บางส่วน ให้ ปชช. ‘ดูแลตัวเอง’ มีประโยชน์มากสุดในระยะยาวทั้งต่อผู้ป่วย-บุคลากรทางการแพทย์


นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า 5 มาตรการในการลดภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 โดยรวมมองว่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้บางส่วนเท่านั้น

ทั้งนี้ ในระยะยาวแนวทางที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุด คงเป็นนโยบายการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงเป็นเรื่องที่ใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งควรต้องมีการสนับสนุนในทุกๆ ด้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะจะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น มีความสามารถในการดูแลตนเอง และลดการมาโรงพยาบาลได้ อันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์

“โดยส่วนตัวแล้วก็อยากเห็นการส่งเสริมสุขภาพที่เข้มแข็งขึ้น และมีงบประมาณ มีแรงจูงใจ ระบบสนับสนุน ให้คนทำงานอยากมาทำงานส่งเสริมสุขภาพอย่างมีความสุขเพื่อชุมชน” ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ระบุ

นพ.ณัฐ กล่าวว่า ส่วนการพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับเบิกจ่ายนั้น หากทำให้สามารถดึงข้อมูลที่บันทึกลงไปแล้วมาใช้ได้เลย เช่น การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช. เป็นอาทิ ก็คงจะช่วยลดภาระในด้านเอกสารบางส่วนได้ เพราะในบางครั้งจำเป็นต้องมีเอกสารหรือข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากโดยปกติแล้วแพทย์จะมีหน้าที่ที่จะต้องบันทึกข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษาในระบบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประวัติผู้ป่วย ข้อมูลการวินิจฉัย ทว่า ระบบบันทึกข้อมูลดังกล่าวจะสามารถทำได้ราบรื่นมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital information system: HIS) ของโรงพยาบาลแต่ละแห่งเป็นหลัก

นอกจากนี้การขยายบทบาทของ Contact center 1330 ในการประสานหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วย (refer) คงมีส่วนช่วยลดภาระงานด้วย เพราะก็เคยประสบปัญหาว่าต้องคอยไล่โทรหาโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วยตนเองจนกว่าจะมีปลายทางรับ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคในการให้การดูแลผู้ป่วยจริงๆ

นพ.ณัฐ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดให้มีกลไกในการหารือร่วมกับเครือข่ายผู้ให้บริการก่อนขยายสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองนั้น มองว่าประเทศไทยจัดว่ามีระบบหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า (universal health care) ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก มีการครอบคลุมหลายๆ ด้าน แต่ก็ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาต่อได้ในหลายจุดนอกจากแนวทางที่ สปสช. เสนอมา เช่น เกณฑ์การเบิกจ่าย ซึ่งบางครั้งเป็นอุปสรรคในการให้บริการการดูแลรักษาแก่ผู้ป่วย

รวมถึงการเบิกจ่ายที่ยังสามารถเป็นไปในรูปแบบ การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (value-based healthcare) มากขึ้นกว่านี้ได้ เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานที่บริหารระบบหลักประกันสุขภาพของไทยแต่ละแห่งจะจ่ายให้กับสถานพยาบาลตามสิ่งที่แพทย์ให้บริการ เช่น การผ่าตัด การจ่ายยา ฯลฯ แต่ไม่ได้จ่ายตามผลที่ผู้ป่วยได้รับ

ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวอีกว่า ทำให้บางกรณีมีแพทย์เสนอบริการดูแลรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง และประสิทธิภาพดีให้ผู้ป่วย เพื่อเบิกจ่ายเงินรายการนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้แพทย์ไม่ค่อยอยากทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ เพราะจำนวนการเบิกจ่ายไม่ค่อยมาก ฉะนั้นถ้าสามารถทำให้การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่าเกิดขึ้นได้จริง จะส่งผลให้แพทย์ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต หรือคุณค่าที่ผู้ป่วยต้องการ

ตัวอย่างเช่น การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าปลายทางผู้ป่วยมีการปัสสาวะได้ดีหลังรักษา โรงพยาบาลจะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่ม เหล่านี้จะนำไปสู่การที่แพทย์ และทีม หาออกแบบการรักษาที่ดีที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย โดยไม่เอาแต่ผลักไปผู้ป่วยไปเข้ารับการบริการราคาสูง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบ (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) อีกด้วย แต่เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนากันต่อผ่านการหารือกับทุกฝ่ายจริงๆ โดยหวังว่าอนาคตจะยกระดับไปสู่ระบบเบิกจ่ายที่ทำให้แพทย์หน้างานได้มุ่งเน้นไปที่การรักษาผู้ป่วยที่อยู่ตรงหน้าให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ไม่ถูกระบบเบิกจ่ายแย่งความสำคัญจากตรงนั้นมากจนเกินไป

“สิ่งที่สำคัญคงเป็นเรื่องของคณะทำงานที่มีผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงมาร่วมทำ รวมถึงเป็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การพัฒนาระบบสำเร็จและใช้งานต่อไปได้อย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของแพทย์และผู้ป่วย” นพ.ณัฐ กล่าว