ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘พิธา’ เตรียมตั้งคณะทำงานด้านสาธารณสุข เป็น 1 ใน 23 คณะทำงานย่อยตามประเด็นใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงานบุคลากรสุขภาพ


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการแถลงข่าวการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 ณ พรรคประชาชาติ ตอนหนึ่งว่า ยืนยันว่าจะมีการแต่งตั้ง “คณะทำงานด้านสาธารณสุข” ขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะเป็นหนึ่งใน 23 คณะทำงานตามประเด็นใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล

นายพิธา กล่าวอีกว่า มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้แทนแรงงานและบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการทำงานของบุคลากรแพทย์ที่ผ่านมาที่อยู่ประมาณ 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถือว่ามากเกินไป ดังนั้นจึงควรมีความเข้าใจที่ตรงกันว่า ควรจะอยู่ที่ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นอกจากปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานแล้ว รัฐบาลยังจะทำงานด้านอื่นๆ อีกหลายอย่าง อาทิ การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าไปอยู่ในศูนย์บริการ ทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ฯลฯ ตลอดจนการเพิ่มระบบเทเลเมดิซีน

“สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความเห็นของพรรคก้าวไกลอย่างเดียว โดยในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้น เมื่อมีคณะทำงานเพิ่มขึ้นก็น่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น และเมื่อเข้าสู่การบริหารกระทรวงสาธารณสุขก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้โดยเร็ว” นายพิธา กล่าว

3

อนึ่ง เมื่อเวลา 16.30 น. ณ ที่ทำการพรรคประชาชาติ นายพิธา พร้อมด้วยผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาล ได้แถลงผลการประชุม โดยที่ประชุมมีมติตั้ง “คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาล 9 ราย มีนายพิธา เป็นประธาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แต่งตั้ง “คณะทำงาน” ตาม MOU จำนวน 23 ข้อ โดยเบื้องต้นได้ตั้งแล้ว 7 คณะ ประกอบด้วย 1. ค่าไฟฟ้า น้ำดีเซล พลังงาน 2. ภัยแล้ง-เอลนีโญ 3. ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ 4. แก้ไขรัฐธรรมนูญ 5. สิ่งแวดล้อมและ PM 2.5 6. เศรษฐกิจปากท้อง-เอสเอ็มอี 7. การแก้ไขปัญหายาเสพติด

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้จะมีการตั้งคณะทำงานเพิ่มอีก 7-8 คณะ ซึ่งที่สุดแล้วจะครบ 23 คณะ ตามประเด็นใน MOU โดยคณะกรรมการประสานงานฯ มีหน้าที่พิจารณาผลการทำงานของคณะทำงานตามประเด็นใน MOU ที่มีตัวแทนจากพรรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ แล้วนำมากลั่นกรองจัดทำเป็นนโยบายขอฃรัฐบาล เพื่อแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

สำหรับประเด็นการสรรหาตำแหน่งทางบริหารนั้น จะเกิดขึ้นหลังจากที่แต่ละพรรคได้ทำงานร่วมกันโดยยึดวาระประชาชนเป็นหลักก่อน ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ นั้น พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ยืนยันว่าไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล

อนึ่ง จะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งต่อไปในวันที่ 6 มิ.ย. 2566 โดยพรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ