ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ขอบคุณ สธ. ที่แจงข้อมูลชัดเจน ชี้ ยังมีหลายปัญหาที่ยังไม่ได้พูดถึง ย้ำ พร้อมให้ความร่วมมือทุกฝ่าย ‘สธ.-แพทยสภา-พรรคการเมือง’ เพื่อพัฒนาระบบให้ดีขึ้น


นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) เปิดเผยกับ "The Coverage" ถึงกรณีการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 เรื่องการขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขว่า อยากขอบคุณทาง สธ. ที่เอาตัวเลข และข้อมูลออกมาแสดงต่อสาธารณะให้ทุกคนได้เห็นอย่างกระจ่างชัด เพราะว่าก่อนหน้านี้ก็มีหลายฝ่ายที่เผยแพร่ข้อมูลในทำนองเดียวกันแต่ค่อนข้างกระจัดกระจาย รวมถึงขอบคุณในความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งผลิตแพทย์เข้ามาในระบบให้มากขึ้น การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อลดเวลาการอยู่เวรของแพทย์ชดใช้ทุน (Intern) ลง ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม สหภาพฯ เห็นว่ายังมีหลายส่วนที่ สธ. สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ ซึ่งอาจจะไม่มีการกล่าวถึงในตอนที่ชี้แจง อีกประมาณ 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. เรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ค่อยดี หรือการดูถูก ดุด่าจากอาจารย์ที่เป็นผู้ดูแล (Staff) ที่สร้างปมในใจในการทำงานให้กับแพทย์หลายๆ คน ซึ่งมองว่าปัญหานี้ทาง สธ. หรือแพทยสภาสามารถประกาศออกมาได้เลยว่า ไม่สนับสนุน และพร้อมประณามการกระทำเหล่านี้ 

เพราะการที่อาจารย์แพทย์ที่มีความอาวุโส ซึ่งอยู่ในระดับบริหารระบบบริการสาธารณสุขออกมาพูดจะช่วยให้สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรตรงนี้ได้ค่อนข้างเร็ว และดีมากกว่าแพทย์ผู้ปฏิบัติงานจะสะท้อนขึ้นมาเอง

2. กรอบอัตรากำลังของระบบราชการที่แข็งตัว ทำให้การจะเพิ่มแพทย์ในโรงพยาบาลติดอุปสรรคในหลายส่วน สธ. ไม่สามารถขยายกรอบได้เต็มที่ ซึ่งจริงๆ ก็เข้าใจในเรื่องนี้ แต่เป้าหมายของแพทย์ที่มีการสอนมาอย่างยาวนานคือแพทย์ต้องทำทุกวิธีทางให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาให้ดีที่สุด จึงอยากให้อาจารย์ผู้บริหารใน สธ. ใช้มุมมองนี้ในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อจะนำไปสู่ทางออกที่เป็นไปได้อื่นๆ 

“ถ้าตอนผมเป็นนักเรียนของอาจารย์ ผมบอกอาจารย์ว่าผมอยู่เวรมา 24 ชั่วโมงไม่ไหวแล้ว ถ้าคนไข้มาผมขอตัวไปพักผ่อนก่อนได้ไหม ยังไม่รักษาได้ไหม อาจารย์ก็คงไม่ยอม แต่ทำไมอาจารย์ถึงยอมคิดแค่ในกรอบแล้วปล่อยให้มันเป็นเหมือนทุกวันนี้ได้ ทั้งที่ตอนสอนบอกให้ทำทุกอย่างและทำเกินตัวเอง เพื่อให้คนไข้ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่งเหมือนกัน

“อยากเรียนไปทางอาจารย์ว่าถ้าเป็นไปได้ก็หาทางร่วมกัน ในเมื่อกรอบวันไม่เวิร์กเราก็ควรต้องเปลี่ยนกรอบไหม หรือหาทางออกจากกรอบอะไรแบบนี้” ตัวแทนจากสหภาพฯ ระบุ 

นพ.ณัฐ กล่าวต่อไปว่า 3. การจัดสรรแพทย์ Intern ไปอยู่ในโรงพยาบาล เพราะถ้าตามตัวเลขจะเห็นได้ว่ามันออกมาค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2565 แต่ทำไมยังมีบางโรงพยาบาลบอกว่าแพทย์ Intern ที่ถูกจัดสรรมาลดน้อยลง ซึ่งตรงนี้ก็มีความไม่สัมพันธ์กัน และไม่รู้ว่าตอนที่จัดสรรลงไปแต่ละโรงพยาบาลใช้เกณฑ์อะไรอย่างไร เนื่องจากถ้าโควตาจัดสรรเพิ่มขึ้นจริงก็ไม่ควรมีปัญหาทางหน้างานสะท้อนกลับมาแบบนี้

4. การเพิ่มคุณภาพของแพทย์ที่จบใหม่ โดยในส่วนนี้ค่อนข้างเห็นด้วยกับที่ สธ. เผยออกมา เพราะถ้าเร่งผลิตแพทย์มาเยอะๆ แต่ปฏิบัติงานไม่ได้ก็คงไม่มีความหมาย ทำให้เป็นปัญหาคอขวดที่ค่อนข้างเข้าใจ คงต้องหาวิธีแก้ไขกันไป

5. การกำหนดเกณฑ์ภาระงานที่ถูกต้อง ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการกำหนดชั่วโมงการทำงานนอกเวลา (เวร) ของแพทย์ ตัวอย่างเช่น เดิมแพทย์หนึ่งคนต้องอยู่ 20 เวร และมีการประกาศให้ลดจำนวนลงเหลือ 15 เวร แต่ลดจำนวนแพทย์ที่อยู่เวรไปด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ก็เท่ากับแพทย์คนที่อยู่เวรก็ต้องรับภาระงานหนักเหมือนเดิม เพราะกรณีนี้เคยมีคนร้องเรียนมาที่สหภาพฯ เหมือนกัน ซึ่งยังไม่เห็นทาง สธ. ออกมาพูดถึงในประเด็นนี้

นพ.ณัฐ กล่าวว่า คิดว่า สธ. ทำเรื่องนี้มานาน คงจะมีความเข้าใจปัญหาเหล่านี้ในระดับหนึ่งแล้วเหมือนกัน แต่ก็อาจจะมีบางจุดที่มีข้อมูลในมือไม่เพียงพอ เช่น ปริมาณแพทย์ที่ต้องการในโรงพยาบาล และก็ค่า FTE ที่ใช้คิดกำลังคน ซึ่งอาจจะใช้จำนวนเตียง ปริมาณผู้ป่วย ฯลฯ ในการคำนวณว่าควรมีแพทย์กี่คน แต่ว่าหลายๆ ครั้งที่ใช้มันเป็นการถัวกันไป อย่างการรวม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไปด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ปฏิบัติงานหน้างานเต็มเวลา เพราะต้องทำหน้าที่บริหาร

ดังนั้น จึงหมายความว่าระบบบริการสาธารณสุขของไทยไม่มีวิธีการคำนวณภาระงานของแพทย์อย่างเป็นระบบที่สะท้อนถึงแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ แบบเต็มเวลา ไม่ต้องไปทำงานบริหารหรือมีอะไรเลยกี่คน และมีผู้ป่วยกี่คน ก็จะสามารถคำนวณได้แม่นยำมากขึ้น โดยอาจใช้เครื่องมือระบบ WISN ขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือ Workforce Registry ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลสาธารณสุขภาพรวมที่ละเอียดแม่นยำ ในส่วนนี้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย  

“ต่อจากนี้ทางสหภาพ จะเปิดรับสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรวบรวมปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งในการรับเรื่องร้องเรียน แล้วก็จะพยายามเป็นตัวแทนของแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากตั้งแต่มีการเปิดเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา มีคนร้องเรียนค่อนข้างเยอะ เช่น ภาระงานในโรงพยาบาลที่ทำอยู่เป็นแบบนี้ แพทย์ Intern ลาออก ซึ่งไม่แน่ใจว่าเสียงเหล่านี้จะไปถึงผู้บริหารหรือเปล่า 

“ผมหวังว่าข้อมูลที่ได้มาตรงนี้จะสามารถนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างสหภาพกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อย่าง แพทยสภา สธ. หรือพรรคการเมืองไหนก็ตาม เพื่อเอาข้อมูลที่แท้จริงเข้าไปในระบบ เพื่อพัฒนาให้มันดีขึ้นไปกว่านี้” นพ.ณัฐ กล่าว

วันเดียวกัน สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้แถลงการในกรณีนี้เช่นกัน โดยมีสาระสำคัญ คือ สหภาพฯ พยายามเชิญรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเข้าร่วมการประชุมและหาทางออกร่วมกันจากหลายภาคส่วน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับมาแต่อย่างใด จนถึงวันนี้พวกเราแพทย์ กลับได้คำตอบเพียงว่า ปัญหาเหล่านั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของกระทรวงจะปรับเปลี่ยนเรื่องค่าตอบแทนและตำแหน่งที่เหมาะสมให้กับแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในฐานะผู้บริหารระบบสาธารณสุขของประเทศ 

ทั้งนี้ ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนต่อไป จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ที่ขัดขวางการพัฒนาวงการแพทย์และระบบสาธารณสุขไทย โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง หยุดเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วย คืนความเป็นมนุษย์ให้แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ