ตัวแทนเครือข่ายสหภาพบุคลากรทางการแพทย์ เข้าพบ “พิธา” ร่วมพูดคุย-รับฟังประเด็นปัญหาด้านแรงงาน พร้อมให้คำมั่นแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงาน-การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ควบคู่การลดผู้ป่วยด้วยความเข้มแข็งของ “Primary Prevention” พร้อมยืนยันสิทธิบุคลากรการแพทย์ สามารถรวมตัวเป็นสหภาพเรียกร้องเรื่องการทำงานได้
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และ Nurses Connect ซึ่งรวมตัวกันในฐานะตัวแทนเครือข่ายสหภาพบุคลากรทางการแพทย์ เข้าพบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อร่วมเจรจาและติดตามเรื่องนโยบายบุคลากรทางการแพทย์ ในการประชุมเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนปัญหาของแรงงานแต่ละสาขา ที่เทศบาลบางเสาธง จ.สมุทรปราการ
น.ส.ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เปิดเผยกับ The Coverage ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเป็นหนึ่งในพรรคการเมือง ที่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เมื่อพรรคก้าวไกลกำลังมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทางเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์จึงมาพบเพื่อร่วมพูดคุยถึงแผนการ รวมถึงนโยบายที่จะสามารถเดินหน้าได้ก่อน เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของคนในระบบสาธารณสุข
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกันในช่วงที่ผ่านมาของกลุ่มแพทย์ พยาบาล และตัวแทนบุคลากรอีกกว่า 7-8 วิชาชีพ ที่รวมตัวกันในนามสหภาพบุคลากรทางการแพทย์ ได้พบว่าแต่ละวิชาชีพมีจุดที่เจ็บปวด หรือ Pain Point ในการทำงานไม่แตกต่างกัน โดยสามารถสรุปออกมาได้เป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ภาระงาน ควรมีมาตรฐาน กำหนดจำนวนผู้ป่วยต่อบุคลากร เพื่อคำนวนภาระงานตามจริงว่าต้องการคนเท่าไร, งานที่ไม่เกี่ยวข้องก็ควรหาพนักงานที่รับผิดชอบงานนั้นโดยตรง, ห้องฉุกเฉินก็ควรรับเฉพาะเคสฉุกเฉินเท่านั้น, ควรคำนวณภาระงานทุกอย่างนอกจากงานบริการ เพื่อหาปริมาณบุคลากรที่ต้องการจริง, มีระบบการเก็บภาระงานที่เหมาะสม
2. เวลาการทำงาน จะต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อกำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากร โดยไม่ให้เกินที่จำนวน 60-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยในส่วนของวิชาชีพอื่นๆ ที่ทำงานนอกเวลาราชการ ก็ควรได้ค่าตอบแทนล่วงเวลา (OT) 3. ค่าตอบแทนและการจ้างงาน ในการทำงานเสี่ยงควรมีค่าตอบแทน, ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P) ควรจ่ายตามจริง, ความก้าวหน้าของอาชีพ, ค่าตอบแทนควรขึ้นให้สมกับค่าครองชีพ และที่สำคัญต้องไม่ตกเบิก 4. สวัสดิการอื่นๆ เช่น ที่พักบุคลากรควรปลอดภัยและอยู่ในรั้วโรงพยาบาล, รูปแบบการจ้างงานควรมีความมั่นคงเหมือนกันเพื่อได้สวัสดิการที่ดี
น.ส.ชุตินาถ กล่าวว่า ส่วนตัวแม้จะเห็นด้วยกับแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ของพรรค แต่ในอนาคตหากเป็นไปได้ก็อยากให้พัฒนาวิชาชีพอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะในความเป็นจริงยังมีอีกหลายวิชาชีพไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ทัดเทียม หรือมีสวัสดิการที่แตกต่างกันมากเกินไป ตัวอย่างเช่น แพทย์กับพยาบาล มีค่าตอบแทนที่แตกต่างกันประมาณ 4-5 เท่า หรือหากเทียบกับนักเทคนิคการแพทย์ ก็ต่างกันถึง 6 เท่า ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มีความเหลื่อมล้ำสูง
ขณะเดียวกัน ทางเครือข่ายก็มีความคาดหวังว่าการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ จะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแพทย์ พยาบาล หรือคนที่ทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่อยากให้ครอบคลุมไปถึงคนทำงานด้านสุขภาพ หรือกลุ่ม Care Worker ที่ไม่ใช่บุคลากรการแพทย์โดยตรง เพราะขณะนี้มีผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงหลายคน ซึ่งต้องสร้าง Care Worker ขึ้นมาดูแล แต่คนทำงานเหล่านี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากพอ
“สำหรับการพูดคุยในวันนี้ ทางพรรคได้ยืนยันไปถึงกลุ่มแรงงานต่างๆ กับการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของชั่วโมงการทำงาน การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม หรือสวัสดิการต่างๆ ซึ่งพบว่าแรงงานในแต่ละกลุ่มก็ล้วนเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ ไม่แตกต่างกับบุคลากรการแพทย์” น.ส.ชุตินาถ ระบุ
น.ส.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากการลดภาระงานแล้ว ทางพรรคยังได้ให้แนวทางถึงการวางแผนลดภาระผู้ป่วยในระยะยาว ด้วยการเพิ่ม Primary Prevention ให้เข้มแข็ง เพิ่มบริการผ่านเทเลเมดิซีน การตรวจสุขภาพ ฯลฯ ขณะเดียวกันยังพูดถึงการรองรับการรวมตัวตามมาตรฐาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถรวมตัวกัน จัดตั้งเป็นสหภาพเพื่อเรียกร้องการทำงานได้ นอกจากนี้ก็ยังได้ให้คำสัญญาในส่วนของการจ้างงานที่มีความหลากหลาย ว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
“จากการพูดคุยก็ทำให้เรามีความคาดหวัง เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีรัฐบาลไหนที่จะพูดถึงเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์มาก่อน ที่นอกจากแพทย์ พยาบาล แล้วก็ยังมีสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกัน ส่วนทางพรรคการเมืองจะให้คำมั่นสัญญาใดๆ แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของทางสหภาพ และบุคลากรเราที่จะต้องรวมตัว ติดตามปัญหาต่างๆ เพื่อดูว่าการแก้ไขปัญหาจะสามารถทำได้จริง บรรลุตามสิ่งที่เราร่วมกันเรียกร้องได้หรือไม่” น.ส.ชุตินาถ กล่าว
- 512 views