ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาขาดกำลังคน และแพทย์ทำงานกันอย่างไม่ได้หยุดพัก กำลังเป็นประเด็นในสังคมไทย โดยข้อมูลจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ระบุว่า แพทย์ที่ไม่ได้พักผ่อนนานถึง 48 ชั่วโมง ประสิทธิภาพทางร่างกายเทียบเท่ากับระดับความเมา จากการดื่มเหล้าวอดก้า (Vodka) 600 ซีซี   

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงว่า ในประเทศไทยทุกวันนี้ ยังคงประสบปัญหาหนักในด้านการขาดแคลนแพทย์ อีกทั้งยังพบว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ขณะนี้ มีผู้ที่ต้องแบกรับภาระงานหนักเป็นเวลาถึง 104 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จริง

ทั้งนี้ แพทย์ที่ทำงานหนักจนไม่ได้รับการพักผ่อนเป็นระยะเวลานาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงมาก เช่น นึกชื่อยาหรือวิธีการใช้ไม่ได้  ไม่สามารถหาสาเหตุอาการป่วยของคนไข้ได้อย่างถูกต้อง ไปจนถึงเกิดความเสี่ยงในการรักษาผู้ป่วยที่อาจผิดพลาดอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของแพทย์ได้อีกด้วย นั่นคือ “โรคซึมเศร้า” โดยปัญหาที่ตามมาเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หรือพิการได้อีกด้วย

จากปัญหาต่างๆ ข้างต้น อาจทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าหากผู้ป่วย หรือผู้ที่เข้ารับบริการทราบถึงปัญหานี้แล้ว ยังจะมีความเชื่อมั่นในการทำงานของแพทย์อยู่อีกหรือไม่ “The Coverage” จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลากหลายอาชีพที่เคยไปใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐว่า พวกเขาจะมีความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างไร

2

บุญธรรม ดังกลาง อายุ 54 ปี อาชีพค้าขาย มีความเห็นว่า รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในการทำงานของแพทย์ เพราะเหตุผลหลักเลยก็คือ แพทย์ขาดการพักผ่อนเป็นระยะเวลานาน สันนิษฐานว่าโดยเหตุนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยตามมาได้ 

“ไม่ค่อยมั่นใจเลยครับ ไม่มั่นใจ เพราะว่าคุณหมอไม่มีเวลาพักผ่อนเลย ผมดูทางทีวีนะครับ หมอทำงาน 24 ชม. บางท่านไม่รู้ว่าเอาเวลาไหนพักผ่อน ผมเลยไม่ได้ค่อยไปหาหมอ เพราะคิดว่าน่ากลัวที่อาจจะเจอคุณหมออารมณ์แปรปรวน อีกทั้ง ที่เคยเจอคือ แพทย์หนึ่งคนยังมีหลายหน้าที่ ตั้งแต่การรับเรื่องไปจนถึงให้การรักษา” บุญธรรม ระบุ

2

สอดคล้องกับ คุณานนต์ ปั้นจอม อายุ 22 ปี อาชีพ นักพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ และ ณิชารีย์ ประมวลทรัพย์ อายุ 24 ปี อาชีพ ติวเตอร์ภาษาอังกฤษ ที่บอกว่า ค่อนข้างรู้สึกกังวล เพราะแพทย์ควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอก่อนให้การรักษา เพราะร่างกายของแพทย์ที่ไม่พร้อม อาจมาพร้อมกับประสิทธิภาพในการรักษาที่ไม่ดี ทั้ง 2 คนยังทิ้งท้ายด้วยว่า อยากให้มีหน่วยงานรัฐบาล หรือ สธ. เข้ามาดูแล เพราะปัญหานี้คือตัวการใหญ่ที่มีผลต่อสุขภาพ และชีวิตของผู้คนในสังคม

2

3

ด้าน เสฐวุฒิ หวังเกียรติ อายุ 26 ปี อาชีพพนักงานภาครัฐ ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยอธิบายว่ารู้สึกไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวแพทย์ขนาดนั้น เพราะเวลาทำงานของคนทั่วไป 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถือว่าค่อนข้างหนัก แต่การทำงานของแพทย์นั้นมากถึง 104 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถือว่าค่อนข้างหนักกว่าคนทำงานทั่วไป ดังนั้นอาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์ลดลงได้  

จะเห็นได้ว่า ผู้ให้สัมภาษณ์รู้สึกขาดความเชื่อมั่น และเป็นกังวลในการที่จะเข้ารับการรักษาจากแพทย์ที่ไม่พร้อมทางด้านร่างกาย และจิตใจ โดยบางกรณีอย่าง บุญรวม ฉวีรัตน์ อายุ 64 ปี อาชีพ ไกด์/ล่ามญี่ปุ่น ถึงกับบอกว่าถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากป่วยในช่วงที่แพทย์ไม่พร้อมทางด้านร่างกาย เพราะอาจจะเกิดความเสี่ยงในการวินิจฉัย หรือการรักษาโรคที่อาจจะเป็นปัญหาได้ในภายหลัง

2

“กังวลใจเลยแหละ เพราะว่าหมอมีความรู้ก็จริง แต่เวลาพักผ่อนน้อย หมออาจจะวินิจฉัยโรคผิดได้” นายบุญรวม กล่าว

นอกจากนี้ แม้จะไม่ได้กังวลถึงประเด็นเรื่องความผิดพลาดในการดูแลรักษาของแพทย์ แต่อีกประเด็นก็คือความคุกรุ่นทางอารมณ์ที่เป็นผลจากความตึงเครียด เช่นที่ นวลจันทร์ วโรกร อายุ 53 ปี อาชีพค้าขาย บอกว่า ส่วนตัวไม่ได้กังวลว่าแพทย์จะปฏิบัติหน้าที่ได้บกพร่องหรือมีข้อผิดพลาด แต่มีความกังวลมากกว่าว่าอาจเป็นไปได้ว่าแพทย์จะเอาอารมณ์จากความเหนื่อยที่สะสมมาลงที่ผู้ป่วยหรือไม่ เพราะว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หรือระบบประกันสังคมอาจจะมีส่วนที่ทำให้มีภาระงานที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน เพราะมีประชาชนใช้สิทธิ์กันมากขึ้น 

3

ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้สะท้อนว่าความเห็นส่วนใหญ่ของผู้ให้สัมภาษณ์ รู้สึกขาดความเชื่อมั่นในการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ที่ต้องทำงานอย่างหนัก และไม่ได้พักผ่อนติดต่อกันเป็นเวลานาน อันมีสาเหตุหลักๆ มาจากความกังวลในการเข้ารับการรักษาที่อาจผิดพลาด ซึ่งมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานกว่า 10 ปี

แม้ล่าสุดทาง สธ. จะมีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ด้วยในขณะนี้ ใน 5 เรื่องหลักๆ อันประกอบด้วย 1. การเร่งผลิตแพทย์เพิ่ม  2. การเพิ่มสวัสดิการ 3. การเพิ่มความก้าวหน้า 4. การเพิ่มค่าตอบแทน และ 5. การกำหนดภาระงาน แต่น่าสนใจว่ากลับมีการส่งเสียงมาว่าวิธีต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” เท่าที่ควร

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไปว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเบนเข็มไปทิศทางไหนต่อไป