ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ถ้าให้หมอเรียนเพิ่มอีกปี มันไม่ได้หมายความว่าหมอปี 7 จะได้เรียนรู้วิชาการเพิ่มนะ แค่ยื้อเวลาให้เป็นแรงงานทาสอีก 1 ปี จากการยื้อให้เราจบช้า บังคับไม่ให้ลาออก ไม่ต้องจ่ายเงินเดือน และต้องเสียค่าเทอมให้สถาบันก็เท่านั้น”

“แก้ปัญหาโดยการเพิ่มปัญหาใหม่ จะได้หลุดพ้น(ลืมชั่วขณะ)จากปัญหาเก่า”

“6 ปีก็จะตายคาวอร์ดอยู่แล้ว”

“หมด 7 ปีลาออกอยู่ดีถ้าระบบเดิม”

“คือใจคอจะมองแพทย์เป็นแรงงานทาสไปถึงไหนถึงกล้าเสนอวิธีนี้อะ ถ้าทำจริงแล้วได้ผล อีกหน่อยจะยื้อแพทย์ให้เป็นนักศึกษา 10 ปีไปเลยไหม จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเดือน แหมมมม”

“พูดตรง ๆ แก้ปัญหาเหมือนไม่ได้มองเราเป็นคนอะ แค่ออกนโยบายให้เราปิดปากเงียบ หนีไม่ได้ ต้องยอมจำนนเป็นทาสต่อ”

“นี่คือการแก้ปัญหาด้วยการบังคับนะ”

นี่คือตัวอย่างเสียงในโลกอินเทอร์เน็ตที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อินเทิร์น) ลาออก ด้วยการให้ “เรียนแพทย์ 7 ปี” ซึ่งเป็นข้อเสนอจากที่ประชุม 4 ชมรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ถึงความร่วมมือการยกระดับบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2566 

ข้อเสนอดังกล่าว ได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอย่างร้อนแรงถึงวิธีการแก้ปัญหาอินเทิร์นลาออกเยอะ อันเป็นการขุดปัญหาที่ถูกพูดถึงในกลุ่ม ‘เล็กๆ’ มาตลอดหลายปีให้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง

จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก "เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล" ได้ออกมาเปิดเผย เรื่องราวของ "แพทย์จบใหม่ลาออก" ในปี 2566 พบว่า มีจำนวนแพทย์จบใหม่ทั้งสิ้น 2,700 คน แต่เหลืออยู่ในระบบเพียง 1,800 คน
มีอัตราส่วนการลาออกมากถึง 1 ใน 3 ของหมอจบใหม่ทั้งหมด

‘The Coverage’ ได้พูดคุยกับนักศึกษาแพทย์ปี 3 จากมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง (ไม่ขอเปิดเผยนาม) เธอได้เล่าให้เราฟังว่า กว่าจะได้เป็นแพทย์อย่างเต็มตัว นักศึกษาแพทย์จะต้องเผชิญด่านของการเป็นนักเรียนแพทย์ไปแล้ว 6 ปี ช่วงเวลานี้ต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพถึง 3 ครั้งในช่วงชั้นปี 3 ปี 5 และปี 6 ซึ่งตอนปี 6 นี่เองจะถูกเรียกว่า Extern (เอ็กซ์เทิร์น) ก่อนจะเรียนจบและก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ในฐานะแพทย์จบใหม่ เป็นแพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่เรามักจะเรียกกันว่า Intern (อินเทิร์น) 1-3 ปี

แพทย์ใหม่ต่อต้าน มองว่าเป็นสัญญาทาส

นักศึกษาแพทย์คนดังกล่าวได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า จากกรณีที่ สธ. หาทางออกโดยเสนอทำเพิ่มจากเรียนแพทย์เป็น 7 ปีนั้น สามารถแก้ปัญหาอินเทิร์นลาออกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะการเรียน 7 ปีจะเป็นเครื่องมือบังคับว่า ต้องเป็นเรียนจบก่อนถึงจะสามารถบรรจุเป็นแพทย์ได้ แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้มิใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ ‘ปลายเหตุ’ แบบ ‘สุดๆ’ ต่างหาก 

เธอ กล่าวต่อไปว่า วิธีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด นักศึกษาอาจจะยอมเรียน 7 ปี แต่หลังจากที่ได้ทำงานจนจบแล้วก็จะกลับมาขาดแคลนเหมือนเดิม หากสภาพแวดล้อม และระบบการทำงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะในแต่ละปีจะมีเด็กปี 7 ที่เข้ามาทำงาน - ลาออกในแต่ละปีอยู่ดี 

ความคิดเห็นนี้ได้เห็นพ้องกับเสียงส่วนมากในโลกอินเทอร์เน็ตที่มองว่า การเรียน 7 ปีจะมีแต่ตัวนักศึกษาแพทย์เองที่กลายเป็นทาสในระบบ เพราะนอกจากจะต้องเรียน 7 ปีถึงจะได้ใบประกอบวิชาชีพแล้ว ยังจะถูกใช้งานฟรีๆ อีก 1 ปี แถมยังต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าเทอมต่ออีกต่างหาก ทางฝ่ายบุคลากรทางการแพทย์เองก็มีความเห็นว่า การแก้ปัญหาอินเทิร์นโดยการให้เรียนแพทย์ 7 ปีนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดี

สอดคล้องกับ นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท และอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า การเรียนแพทย์ 7 ปีไม่ใช่ทางออก 

นั่นเพราะการยกเลิกหลักสูตรหมออินเทิร์น และปรับเป็น 7 ปี หากทำจริงจะยิ่งขาดแคลนแพทย์ไป 1 ปี แล้วบทบาทการเป็นนักศึกษาตอนปีที่ 7 กับตอนที่เป็นอินเทิร์นก็แตกต่างกัน หากบังคับเรียนหลักสูตร 7 ปีก็จะเกิดปัญหาคนที่อยากเรียนจะคิดหนักว่า ใช้เวลาเรียนนานไปหรือไม่ สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลระดับจังหวัด เพราะปกติแพทย์ที่จบใหม่ต้องออกไปโรงพยาบาลชุมชน หากคิดว่าไม่ต้องมีอินเทิร์นอีก แสดงว่า โรงพยาบาลระดับจังหวัดจะไม่มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ปฏิบัติงานอยู่เลย 

สิ่งสำคัญคือ สภาพแวดล้อมการเรียนอยู่ในโรงเรียนแพทย์ก็แตกต่างจากโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งสิ่งนี้ไม่สามารถทดแทนกันได้ เพราะบรรยากาศงาน รูปแบบการทำงานของโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลจังหวัดก็มีความแตกต่างกัน

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ รศ.พญ.นันทนา ศิริทรัพย์ เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ก็แสดงความกังวลผ่านบทสัมภาษณ์กับทางประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย 2566 ว่า หากให้นักศึกษาแพทย์อยู่ในโรงเรียนแพทย์อีก 1 ปี จะทำให้ปีแรกไม่มีแพทย์ไปเติมในระบบทันทีกว่า 3 พันคน หากเป็นเช่นนั้นแพทย์ที่อยู่ในระบบจะรับภาระไหวหรือไม่ และการให้แพทย์เรียน 7 ปี จะได้รับเงินเดือนเท่าไหร่ 

ทั้งนี้ ในส่วนนักเรียนทุนแพทย์ ซึ่งปกติจะได้รับทุน 6 ปี หากมีการปรับหลักสูตรก็จะทำให้เกิดข้อสงสัยว่าในการเรียนปีที่ 7 นักศึกษาจะได้รับทุนจากที่ไหน ยังไม่รวมรายละเอียดเรื่องงบประมาณสำหรับการเรียนการสอน อุปกรณ์ของโรงเรียนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ปี ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากแหล่งใด

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุกเรื่องจะเกี่ยวพันกันทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการหารือกันเพื่อช่วยหาทางออก ดังนั้นการที่จะปรับหลักสูตรเพิ่ม หรือลดระยะเวลาเรียน ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย ๆ หรือทำได้อย่างรวดเร็วนัก

3

งานโอเวอร์โหลด แบกความกดดัน

ปัญหาที่แท้จริงในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นปัญหาการทำงานหนัก เงินเดือนไม่สอดคล้องกับความเหนื่อยที่ลงแรงไป การเข้าเวรของแพทย์อินเทิร์นเป็นความเหนื่อยที่ไม่คุ้มกับค่าตอบแทน

“กฎหมายแรงงานก็ดูจะไม่ได้ใช้กับเราเลย (หัวเราะ) เราไม่ได้ทำงานตามที่กฎหมายแรงงานบอกด้วยซ้ำว่า ต้องทำงานกี่ชั่วโมง เพราะเราทำเกินไปจากนั้นอยู่แล้ว” 

จากการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกสำรวจชั่วโมงการทำงานแพทย์ของโรงพยาบาลในสังกัด เมื่อ 15-30 พ.ย. 2565 พบว่า มีโรงพยาบาล 9 แห่งที่แพทย์ต้องทำงานนอกเวลาเกิน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นการทำงานในเวลาราชการ 40 ชั่วโมง และมีการทำงานนอกเวลาเพิ่มอีก 64 ชั่วโมง รวมเป็น 104 ชั่วโมง/สัปดาห์ โรงพยาบาล 4 แห่งมีแพทย์ทำงานนอกเวลา 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โรงพยาบาล 11 แห่ง แพทย์ต้องทำงานนอกเวลา 53-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โรงพยาบาล 18 แห่ง แพทย์ทำงานนอกเวลา 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีโรงพยาบาล 23 แห่ง แพทย์ทำงานนอกเวลา 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่มาตรฐานโลกต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

อย่างไรก็ตาม มีอีกสิ่งหนึ่งที่บรรดาแพทย์อินเทิร์นจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยด้วยภาระหน้าที่ก็คงจะเป็นความคาดหวังจากบุคคลรอบข้างที่คาดหวังไว้ว่า แพทย์จะต้องทำงานได้อย่างเต็มที่ในทุกวัน และแน่นอนว่า ตัวของแพทย์เองก็มีความคาดหวังนี้กับตัวเองเช่นกัน เพราะหน้าที่ที่ข้องเกี่ยวกับความเป็นความตายของมนุษย์ ทำให้ความรับผิดชอบและความคาดหวัง กลายเป็นความกดดันที่จะต้องแบกไว้สูงขึ้นเป็นเท่าตัว 

นี่ยังไม่นับรวมแรงกดดันที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย นักศึกษาแพทย์บางรายได้ยินผ่านหูมาบ้างจากประสบการณ์ของรุ่นพี่ที่ต้องไปเป็นแพทย์อินเทิร์นอยู่ต่างจังหวัดที่เล่าว่า ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ไม่มีคนรู้จัก และมีเพียงบ้านพักแพทย์ที่ผุพังเป็นที่อยู่อาศัย ไม่มีสภาพแวดล้อมดีๆ คอยซัปพอร์ตจิตใจ สิ่งเหล่านี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แพทย์อินเทิร์นรู้สึกไม่อยากทนอยู่ในสภาพแวดล้อมแย่ๆ เหล่านั้น และลาออกไปในที่สุด

เราจะขอยกตัวอย่างประสบการณ์การทำงานเป็นแพทย์อินเทิร์นของ พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร จากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ที่เล่าผ่านบทสัมภาษณ์ของ The Matter ว่า เธอต้องไปทำงานตอน 07:00 น. เข้าไปถึงก็ต้องดูแลผู้ป่วยในก่อน เช่น ในโรงพยาบาลมีผู้ป่วย 200 เตียง มีแพทย์ 3 คนตอนเช้า แพทย์ทั้งหมดก็ต้องแบ่งกันตรวจคนไข้ให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง ต่อด้วยการตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐก็ต้องตรวจผู้ป่วยนอกเกิน 60 คนขึ้นไป 

แน่นอนว่า ไม่มีการทานข้าวกลางวัน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรอนานยิ่งขึ้น หากในระหว่างนี้ผู้ป่วยในเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เธอก็ต้องกลับไปตรวจผู้ป่วยในก่อน ค่อยกลับมาตรวจผู้ป่วยนอกอีกที พอช่วงเย็นก็ต้องไปตรวจผู้ป่วยในอีกครั้ง เพื่อดูอาการ วนอยู่อย่างนี้จนถึง 7 โมงเช้าของอีกวัน ซึ่งแพทย์ต้องทำงานติดต่อกันมากถึง 32 ชั่วโมง ซึ่งบางคนก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะถ้าใครต้องอยู่เวรดูผู้ป่วยหนักต่ออีกก็ต้องทำงานถึง 40 ชั่วโมง 

กรณีนี้จะเห็นได้ว่า แพทย์อินเทิร์นนั้นต้องทำงานหนักมาก ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่นักศึกษาแพทย์ได้กล่าวว่า สมมุติวันนี้แพทย์ทำงานได้ 100% แต่วันต่อไปอาจจะทำได้แค่ 80% ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ความผิดของแพทย์ แต่คือความผิดของระบบที่ใช้งานแพทย์หนักเกินไป จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในทุกๆ วันอย่างที่ต้องการได้ 

ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่า ทางออกที่ดีที่สุดมิใช่การเพิ่มเวลาเรียน แต่เป็นการแก้ไขโครงสร้างระบบสาธารณสุขต่างหาก

ส่งเสริม P&P ควบคู่มิติบุคลากร

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรพัฒนาระบบเงินเดือนและสวัสดิการชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ ของแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนที่มาเป็นแพทย์อินเทิร์นอยากที่จะเรียนแพทย์เพิ่มพูนทักษะต่อไป หากมีสวัสดิการและระบบงานที่ดี เมื่อส่งแพทย์อินเทิร์นไปปฏิบัติหน้าที่ต่างจังหวัดจะทำให้แพทย์รู้สึกว่าอยากทำ หรืออยากพัฒนาในหน้าที่ที่จะต้องอยู่กับเขาไปชั่วชีวิต

สิ่งสำคัญอีกประการคือ สธ. ต้องส่งเสริมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้ทั่วถึงมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า เทรนด์ในสมัยนี้มันไม่ใช่เพียงแค่ผลิตยา หรือคอยตามแก้ไขปัญหาโรคต่างๆ แล้ว แต่เป็นยุคแห่งการป้องกันและควบคุมโรค

ฉะนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบสาธารณสุขไทยควรที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุขทั้งฝั่งของการทำงานของบุคลากรให้ดีขึ้น และพัฒนาสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกัน การทำให้ประชาชนกินดี อยู่ดี มีสุขภาพที่ดี หรือว่าการฉีดวัคซีน เรื่องแบบนี้ควรจะได้รับการสนับสนุนไปทางฝั่งประชาชนให้ครอบคลุมด้วย ซึ่งถ้าเราพัฒนาการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคขึ้นมา งานมันก็จะโหลดน้อยลง