ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ รพ.โชคชัย ชี้ ‘บัตรทอง’ มีส่วนทำ ‘หมออินเทิร์น’ ลาออกจริง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุด ปัญหาสำคัญคือ ‘รู้สึกไม่ยุติธรรม-ถูกบังคับใช้แรงงาน’ แนะ รักษาคนในระบบให้ดี-จำกัดภาระงาน-เพิ่มตำแหน่งหมอทั่วไปใน รพ. ใหญ่ทำหน้าที่แทนอินเทิร์น


นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลโชคชัย จ.นครราชสีมา เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) ลาออกจากระบบ แต่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และขณะนี้จำนวนแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นเยอะกว่าเมื่อก่อนพอสมควร ทำให้ไม่ได้แย่มากในเรื่องจำนวน แต่ที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนคือกลุ่มของแพทย์ใช้ทุนปีแรกที่ถูกจัดสรรลงไป

ทั้งนี้ โดยเริ่มมาจากต้นทาง คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับการจัดสรรแพทย์ และตำแหน่งมาไม่พอ ส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ทำให้มีแพทย์ใช้ทุนปีแรกไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน รวมถึงช่วยงานตามแผนกต่างๆ เมื่อรวมกับการลาออกของแพทย์จบใหม่ที่ปฏิเสธการออกมาใช้ทุน ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลมีประมาณกว่า 20 คน จึงทำให้ปัญหาของโรงพยาบาลใหญ่ยิ่งรุนแรงขึ้น

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่แพทย์ใช้ทุนปีแรกจำนวนไม่น้อยลาออก เพราะว่าเป็นงานที่รู้สึกกดดัน และเหมือนถูกเอาเปรียบ โดยต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในแผนกที่ตนเองปฏิบัติงาน และรับผิดชอบเวรห้องฉุกเฉิน ทั้งของตัวเองและอยู่แทนแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์ใช้ทุนปีแรกนั้นในทางปฏิบัติจะมีสถานะที่ยังไม่เป็นแพทย์เต็มตัว ยังต้องฝึกฝน เรียน รวมถึงหาประสบการณ์เพิ่ม เมื่อดูแลผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษากับอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหลายครั้งจะมีปัญหาในการประสานงาน การต้องรับความกดดันทั้งจากการดูแลผู้ป่วยที่ไม่ชำนาญ และปัญหาจากความรู้สึกไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ทำให้เกิดความอึดอัดจนในที่สุดนำไปสู่การลาออก

“น้องๆ มักรู้สึกไม่ยุติธรรม ถูกบังคับ งานหนัก และยังต้องมาเครียดเรื่องจากพี่ๆ หรืออาจารย์อีก โทรตามยาก ตามไม่ได้ ถูกดุ คนไข้ที่อยู่ตรงหน้าก็ไม่รู้จะทำยังไง และเรื่องรายได้ ที่พัก สวัสดิการต่างๆ นั้น ก็เป็นปัญหาจริง แต่คิดว่ายังไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับน้องๆ ใช้ทุนปีแรก” นพ.แมนวัฒน์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ สธ. มองเห็นปัญหา เพียงแต่จากการติดตาม ยังไม่เห็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาได้จริง ในขณะนี้การหาคนไปช่วยงานแพทย์ชดใช้ทุนปีแรกในโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรไปไม่พอให้สามารถรับมือกับหน้างานได้ เสริมขวัญกำลังใจของคนที่ยังอยู่ปฏิบัติงาน เป็นเรื่องที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า แต่ในระยะยาวจะทำอย่างไรอาจต้องมาดูกันต่อ เนื่องจากปัจจุบันที่มีแพทย์จบใหม่ปีละ 3,000 คน การเร่งผลิตหมอเพิ่มอีกอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ควรมุ่งที่จะหาวิธีไม่ให้แพทย์ในระบบลาออกไปมากกว่า

“คือถ้าปัญหาหลักที่น้องๆ แพทย์ลาออก คือความรู้สึกไม่เท่าเทียม ค่าตอบแทนน้อยเกินไป ทำงานหนักเกินไป แล้วกระทรวงแทนที่จะแก้เรื่องพวกนี้ กลับไปแก้โดยปล่อยให้จะออกก็ออกไป หาคนใหม่เข้ามาเยอะๆ รอให้ล้นไปเอง ผมว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างใจร้ายกับน้องๆ รวมถึงปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่กับหมอแต่เกิดกับวิชาชีพอื่นๆ ในกระทรวงทั้งนั้นเลย” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว 

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการเสนอว่าเปลี่ยนหลักสูตรให้เป็น 7 ปี ทำให้สามารถบังคับใช้งานได้ในการฝึกงานปีที่ 7 โดยหมดสิทธิ์ลาออก เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันแพทย์อินเทิร์นลาออก เพราะว่าต้องไปเจอกับสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ฉะนั้นทางออกก็ควรแก้ที่ระบบงานของโรงพยาบาล 

“สำหรับข้อเสนอที่ สธ. ควรทำ คือมุ่งรักษาแพทย์ที่อยู่ในระบบให้ดีก่อน เช่น ปรับสวัสดิการ จัดระบบงาน และกำหนดภาระงานของแพทย์ใช้ทุนให้ชัดเจน มีโควตาการเรียนต่อรองรับ เป็นต้น  และเพิ่มตำแหน่งแพทย์เวชศาสตร์ทั่วไปมาประจำที่อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ รับหน้าที่ที่ปัจจุบันแพทย์อินเทิร์นต้องแบกรับภาระอยู่ ส่วนการใช้ระบบ copayment หรือการจำกัดจำนวนผู้ป่วยต่อแพทย์  เป็นทางรอดของระบบสุขภาพที่จำเป็นต้องทำแต่ต้องระมัดระวังและใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง” สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลโชคชัย ระบุ