ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตนายกแพทยสภาแนะเพิ่มอัตรากำลังแพทย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดภาระได้ เห็นว่าต้องแก้ที่ระบบการทำงาน-เพิ่มค่าตอบแทน-สวัสดิการที่เหมาะสม แนะ ดึงแพทย์เกษียณกลับเข้าระบบช่วยเหลืองานในโรงพยาบาล ลดภาระงานบุคลากร


ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา และกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2566 – 2568) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ว่า เห็นด้วยกับแนวทางการเพิ่มกรอบอัตรากำลังของแพทย์ แต่วิธีการนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้ สิ่งที่ควรทำคือการแก้ทั้งระบบ เนื่องจากตัวระบบมีความซับซ้อนและมีปัญหาต่างๆ อีกจำนวนมาก ทั้งยังเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน การเพิ่มอัตรากำลังส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ การเพิ่มอัตรากำลังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้มีความซับซ้อนมาก ซึ่งจะต้องแก้ในหลายๆ ส่วนไปพร้อมๆ กัน

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวมี 3 ประเด็นหลักที่ขอเสนอให้มีการแก้ไข ได้แก่    1. เพิ่มกรอบอัตรากำลัง เพราะว่าตอนนี้อัตรากำลังคนทำงานมีน้อยทำให้ปัจจุบันบุคลากรยังไม่เพียงพอ บุคลากรในโรงพยาบาลทุกส่วนล้วนต้องทำงานหนัก มีภาระงานที่เยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) และแพทย์ผู้ดูแลประจำโรงพยาบาล (Staff)

2. ปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสม แน่นอนว่าต้องมีการเพิ่มค่าตอบแทนเป็นอัตราการเพิ่มพิเศษ ที่ จะเพิ่มให้เท่าไหร่ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ ค่าทำงานนอกเวลา (อยู่เวร) ก็ควรต้องเพิ่ม เพราะปัจจุบันถือว่าถูกมากสำหรับแพทย์เมื่อเทียบกับภาะงานของแพทย์ และเมื่อเทียบกับค่าตอบแทนระหว่างแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชนยิ่งมีความแตกต่างกันเพิ่มขึ้นไปอีด ทำให้แพทย์ทยอยย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าสายอาชีพอื่นๆ มีค่าตอบแทนไม่ต่างกันมากเท่าบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรในสาขาเหล่านั้นก็จะไม่ย้ายจากรัฐไปเอกชนกันเยอะมากเหมือนบุคลากรทางการแพทย์ 

ฉะนั้นเมื่อค่าตอบแทนระหว่างรัฐบาลกับเอกชนมีความต่างกัน ทำให้แพทย์ที่ต้องทำงานหนัก เผชิญกับความเหนื่อย มีความเสี่ยงสูงทั้งต่อการฟ้องร้องและการติดโรคในโรงพยาบาลรัฐจึงตัดสินใจไปอยู่เอกชนหรือไปทำงานด้านความงาม

3. ดึงแพทย์ที่เกษียณแล้วเข้ามาช่วยงานในระบบ เนื่องจากภาระงานที่หนักสำหรับแพทย์ที่ในระบบราชการ ทำให้อาจเกิดปรากฏการณ์แพทย์ทยอยกันลาออก สุดท้ายระบบก็จะล้มแบบโดมิโน ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวเป็นอย่างมาก สิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้อีกประการหนึ่งก็คือ ควรให้แพทย์ที่เกษียณแล้วมาช่วยงานโดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม 

อดีตนายกแพทยสภา กล่าวต่อไปว่า มีแพทย์เกษียณจำนวนไม่น้อยที่ยังพอมีเวลาและมีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยงานในโรงพยาบาลของรัฐ แม้จะเปิดคลินิกส่วนตัวด้วยหรือไม่ก็ตาม อีกทั้งยังสามารถนำประสบการณ์และความรู้มาสอนทั้งแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์สตาฟ ได้ด้วย เพราะส่วนใหญ่แพทย์ที่เกษียณแล้วนอกจากจะยังมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงแล้วยังมีประสบการณ์ทำงานที่สูงอีกด้วย 

“อย่างที่ศิริราชมีอาจารย์ที่มาช่วยทำงานหลายท่าน ทั้งที่ได้ค่าตอบแทนและไม่ได้ค่าตอบแทน อาจารย์ก็ยังมาช่วยเหลือหน่วยงานเพราะมีความผูกพัน ฉะนั้นผมคิดเห็นว่าควรเอาคนที่เกษียณมาช่วยเป็นกำลังส่วนหนึ่ง โดยไม่ต้องไปเร่งผลิตมากเพราะตอนนี้แพทย์ก็เยอะอยู่แล้วเพียงแต่เราต้องบริหารจัดการให้ดีๆ ให้คนลาออกน้อย กำลังคนก็จะเพียงพอ” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ ระบุ 

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแพทยสภานั้นมีอำนาจทำได้เพียงช่วยให้ความเห็น ช่วยนำเสนอ ช่วยสนับสนุนให้ความเห็น และเป็นกรรมการร่วมเท่านั้น แต่ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการสั่งการหน่วยงานอื่นๆ เช่น เรื่องค่าตอบแทน ทางแพทยสภาก็ได้มีการเสนอเรื่องไป แต่ว่าต้องผ่านการตัดสินใจจากเหล่าผู้บริหารฝ่ายรัฐบาล ฝ่าย สธ. และฝ่ายอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้จะให้แพทย์สภามีอำนาจโดยตรงก็ยังเป็นเรื่องที่จัดการได้ยาก หากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง รวมถึงหน่วยงานของรัฐฝ่ายอื่น เช่น กพ. สำนักงบประมาณ ซึ่งแพทยสภาไม่สามารถนำเรื่องนี้มาแก้ไขปัญหาเองได้ เนื่องจากเป็นงานใหญ่ มีความซับซ้อนระดับภาคที่เป็นปัญหาทับซ้อนมาอย่างยาวนาน