ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 5 เมษายน 2565 คือวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2570 เพื่อผลิตแพทย์ให้ได้ 13,318 คน ภายใต้กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 50,608.40 ล้านบาท

สำหรับโครงการข้างต้นนี้เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และการกระจายแพทย์ตลอดจนขยายศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่งเสริมการเป็น Medical Hub เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหารายได้ให้กับประเทศ

ทว่า ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา และกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2564-2566) กลับไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด

“ผมมีความเห็นว่าขณะนี้แพทย์ไม่ได้ขาดแคลนแต่มีปัญหาในเรื่องการกระจายตัวความเห็นส่วนหนึ่งที่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ ที่ได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา

“The Coverage” อาสาพาทุกคนมานั่งล้อมวงฟังแนวความคิดของอดีตนายกแพทยสภารายนี้ว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วยกับการนำงบประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท มาใช้ผลิตแพทย์เพิ่ม และการผลิตแพทย์เพิ่มอีก 13,318 คน

อะไรคือความไม่สมเหตุสมผล !!?

“เอางบประมาณจำนวนมากสำหรับผลิตแพทย์ไปใช้แก้ปัญหาเดิม ๆ ที่มีอยู่แล้ว ยังจะดีกว่า” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ บอกว่า ที่จริงแล้วประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเพิ่มเลย เพราะตอนนี้กำลังการผลิตแพทย์ของเราอยู่ที่ปีละราวกว่า 2,500 คน ถ้านับรวมแพทย์ที่มาหรือจบจากต่างประเทศอีกรวมแล้วจะได้ประมาณ 3,000 คนต่อปี

ฉะนั้นถ้าจะเพิ่มตามตัวเลขที่ว่าก็อาจจะกลายเป็นประมาณ 5,000 คนต่อปี ซึ่งมากไปจนเกินศักยภาพการผลิตเพราะต้องใช้ทั้งอาจารย์ เครื่องมือ รวมทั้งผู้ป่วยที่จะให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ อันจะทำให้ได้แพทย์ที่ไม่พร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพซึ่งส่งผลให้เป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขในที่สุด

คำถามคือ เมื่อไม่จำเป็นต้องผลิตแพทย์เพิ่มแล้ว ควรเอางบประมาณไปแก้ปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างไร

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ มองว่า ทุกวันนี้การกระจายตัวของแพทย์ไม่ค่อยทั่วถึง เพราะส่วนมากจะอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นส่วนมาก ส่วนสาเหตุนั้นก็มีหลากหลาย เช่น ตำแหน่งไม่ค่อยมี อย่างตำแหน่งแพทย์ใช้ทุนในปีนี้ก็มีให้ไม่ครบ แม้จะสัญญาว่าจะให้ครบแต่ก็ไม่รู้จะได้จริงหรือไม่

ส่วนเรื่องตำแหน่งของแพทย์ที่บรรจุตามโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัดก็ยังมีไม่เพียงพอ เมื่อขอไปก็ไม่ค่อยได้ นั่นก็เป็นเหตุที่ทำให้แพทย์ขาดแคลน ทำให้แพทย์บางส่วนหนีออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน เปิดคลินิก หรือออกไปทำงานด้านความงาม ซึ่งบางคนก็ไม่ได้อยากไป หากรัฐมีตำแหน่งงานให้ แม้ค่าตอบแทนจะน้อยกว่าเขาก็ยินดี

“รวมไปถึงเรื่องภาระงานที่หนักเกินไป นั่นก็สืบเนื่องมาจากการไม่มีตำแหน่งเพียงพอ ถ้าสมมติว่ามีตำแหน่งให้เขาเพียงพอ ภาระงานเขาก็จะกระจายกันไป เมื่อกระจายกันไปเขาก็จะทำงานแบบมีความสุข คนไข้ก็ปลอดภัย

นอกจากนี้แล้ว การกรอบอัตรากำลังมีจำกัด ไม่มีการเพิ่ม ตรงนี้ก็ควรจะเพิ่มให้ มากกว่าการนำเงินไปผลิตแพทย์ออกมาที่มีแต่ปริมาณและก็ไม่รู้ว่าคุณภาพจะเป็นอย่างไร เพราะทั้งอาจารย์แพทย์และเคสผู้ป่วยที่จะศึกษาก็น้อย ไม่เพียงพอต่อปริมาณแพทย์ที่เพิ่มขึ้น แพทย์ในขณะนี้ก็จะได้ฝึกน้อยกว่าในอดีต และก็ไม่ได้ทำหัตถการต่างๆ มากนัก

มากไปกว่านั้นก็อยากจะขอให้มีการขึ้นค่าตอบแทนในการอยู่เวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และที่อื่นๆ ในหน่วยงานของรัฐค่อนข้างต่ำทำให้แพทย์ไม่มีกำลังใจ

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่อดีตนายกแพทยสภารายนี้ เล่าให้ผู้เขียนฟังนั่นก็คือ ยังมีแพทย์ที่เกษียณอายุแล้ว แต่มีศักยภาพและพร้อมที่จะกลับเข้ามาช่วยงานซึ่งส่วนนี้ก็มีไม่น้อยแต่ตรงนี้ก็ไม่มีงบประมาณจ้างที่เพียงพอ

ประเทศไทยอาจารย์ตามโรงเรียนแพทย์ แม้จะอายุมากแล้วแต่ก็ยังสอนหนังสือได้ บางคนก็ไปทำงานแบบไม่รับค่าตอบแทน

ทว่าการที่จะให้แพทย์วัยเกษียณที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยงานไม่ได้มีแค่เหตุผลข้างต้นเสมอไป แต่เพราะมีชั่วโมงบินที่มากกว่า นั่นจึงทำให้การตัดสินใจบางเรื่องบางอย่างรอบคอบและแม่นยำไปตามประสบการณ์ด้วย

“ผมเคยเห็นเวลาไปโรงพยาบาลเอกชน หมอระดับอดีตอธิบดี รองอธิบดีมาอยู่เวรห้องฉุกเฉิน ใส่ท่อช่วยหายใจได้หมด เหมือนหมอรุ่นเด็กๆ เลย เพราะเคยทำมาแล้วก่อนจะมาเป็นผู้บริหาร เมื่อมาฟื้นนิดนึงก็ดึงความรู้กลับมาได้เพราะว่าเขาเคยมีประสบการณ์อยู่แล้ว”

สำหรับแพทย์ที่ไปอยู่ไกลๆ ส่วนมากจะเป็นแพทย์ที่จบใหม่ หากมีแพทย์อาวุโสเข้าไปช่วยเสริม หรือเป็นการจ้างพิเศษที่ได้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมก็จะช่วยได้มาก เพราะจะทำให้แพทย์รุ่นใหม่ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย เมื่อเขาเห็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลผู้ป่วยของอาจารย์แล้ว เขาจะปฏิบัติกับผู้ป่วยหรือพูดจากกับผู้ป่วยไม่ดีไม่ได้แล้ว

“แพทย์รุ่นใหญ่ก็จะมีทั้งประสบการณ์ และมีความรู้มากพอที่จะสอนแพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่มีแต่ความรู้แต่ประสบการณ์เขาอาจจะยังน้อย ฉะนั้นจึงต้องใช้วิธีพี่สอนน้องไปเรื่อยๆ เพราะต้องเรียนรู้กันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

แน่นอนว่าสิ่งที่รัฐควรจะช่วยก็คือหางบประมาณ และให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสิ่งที่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ สะท้อนความคิดเห็นให้ผู้เขียนได้ฟัง และตอบคำถามปัญหาเดิมๆ พร้อมย้ำอีกว่าโครงการนี้ยังไม่ควรมี และอยากเสนอว่าขอให้หยุดโครงการนี้ไว้ก่อน และนำงบประมาณส่วนนั้นมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ก็อาจจะช่วยคลายปมปัญหาได้เร็วขึ้น

ก่อนจะจบบทสนทนา อดีตแพทย์สภารายนี้ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ที่ผ่านมากรอบอัตรากำลังของแพทย์เป็นปัญหามาโดยตลอด ถ้านายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้ ก.พ. ก็จะไปจัดหาตำแหน่งมาจนได้

“งบไม่ให้แต่จะไปผลิตแพทย์เพิ่ม ผมไม่เห็นด้วยเลย แทนที่จะเอางบประมาณมาเพิ่มกรอบอัตรากำลัง มาเพิ่มค่าตอบแทน แต่กลับไปผลิตแพทย์เพิ่มซึ่งเป็นการแก้ไม่ตรงจุด ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย และผมคิดว่าหมอส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เท่าที่สอบถามมาก่อนหน้านี้” นพ.อำนาจ ระบุ