ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอสมิทธิ์’ ชี้ วัฒนธรรมองค์กร ‘ดุด่า-ทิ้งภาระงานให้หมอรุ่นน้อง’ เป็นปัญหาเรื้อรัง บั่นทอนสภาพจิตใจ ‘หมออินเทิร์น’ จนต้องลาออก เสนอสร้างองค์กรใหม่ ทำหน้าที่ ‘รับเรื่องร้องเรียน-บริหารจัดการเรื่องฟ้องร้อง’ โดยเฉพาะ 


ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดีในโรงพยาบาล เช่น การดูถูก ดุด่าจากอาจารย์แพทย์ หรือการที่แพทย์รุ่นพี่ทำงานไม่เต็มเวลา ทำให้แพทย์รุ่นน้องต้องรับภาระแทน เป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังในระบบสุขภาพของรัฐที่มีส่วนบั่นทอนสภาพจิตใจของแพทย์ชดใช้ทุน หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อินเทิร์น) จนตัดสินใจลาออกแน่นอน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวมีมานานแล้ว และบางเรื่องก็ส่งผลเสียต่อการรักษาผู้ป่วยโดยตรงด้วย อย่างในกรณีที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลบางส่วนเอาเวลาราชการออกไปทำในคลินิก ทำให้เวลาเกิดสถานการณ์คับขันที่แพทย์อินเทิร์นยังไม่สามารถจัดการได้ ไม่สามารถโทร.ถาม หรือ ปรึกษาใครได้ กระทั่งมาช่วยไม่ได้ก็มี จนนำไปสู่การรักษาที่ผิดพลาด ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน อีกทั้งแม้จะรู้ และผิดจริงแต่ก็สามารถแก้ไขได้ยาก

“บางทีสตาฟประเภทนี้ (เอาเวลาราชการไปเปิดคลินิก) อาจจะเป็นแพทย์คนเดียวในจังหวัด หรือเป็นหนึ่งในแพทย์ไม่กี่คนในจังหวัด ถ้าลงโทษให้ออกหรือหยุดทำหน้าที่ คำถามคือแล้วใครจะมาอยู่แทน ซึ่งทำให้ประเด็นนี้แก้ได้ยากในระดับหนึ่ง อีกทั้งในเชิงกระบวนการออกของระบบราชการก็ต้องใช้เวลาด้วย เลยกลับมาเรื่องเดิมว่าปริมาณแพทย์ไม่พอ เพราะถ้าแพทย์พอเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นก็ไล่เขาออกไปเลย” นพ.สมิทธิ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เป็นการดูถูก ดุด่า เมื่อปี 2565 ทางแพทยสภาได้มีการประกาศข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการปรับปรุงข้อบังคับให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน โดยในส่วนที่เป็นการกำกับการปฏิบัติตนต่อผู้ร่วมงาน ได้กำหนดไว้ว่า ต้องให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน รวมถึงต้องไม่มีการให้ร้าย ทับถม กลั่นแกล้ง เหยียดหยาม ฯลฯ ต่อกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นสามารถร้องเรียนมาที่แพทยสภาได้ เพราะถือว่ามีความผิด

นพ.สมิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นก็มีการร้องเรียนกันเกิดขึ้นตามมา แต่เป็นกรณีของแพทย์ทั่วไปตามโรงพยาบาล ไม่ใช่แพทย์อินเทิร์นปีแรกโดยเฉพาะ เนื่องจากต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหานี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน เพราะแพทย์อินเทิร์นก็ไม่กล้าที่จะร้องเรียนแพทย์ที่เป็นสตาฟ เพราะแพทย์สตาฟเป็นคนประเมินแพทย์อินเทิร์น

“พูดให้ถึงที่สุดประเทศไทยเรายังขาดระบบรับเรื่องร้องเรียนที่มันแยกตัวจากคนที่ลงโทษ พอมันไม่มีระบบนี้ คนจะร้องปุ๊ปเขาก็กลัวโดนเล่นกลับอะไรแบบนี้ หรือในอีกแง่หนึ่งระบบที่มีอยู่ยังไม่มีความชัดเจนให้คนที่อยากร้องเรียนลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง เลยไม่ค่อยมีกรณีนี้เท่าไหร่ ยกเว้นคนที่ร้องเรียนเขาไม่สนใจอะไรแล้ว หรือรวมตัวกันก็อาจจะเป็นไปได้” นพ.สมิทธิ์ กล่าว 

นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ส่วนการประเมินอื่นๆ อย่าง การสร้างองค์กรแห่งความสุข (Happy workplace) ที่ในทางหลักการเป็นการร่วมกันระหว่างแพทยสภากับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการประเมินแพทย์อินเทิร์นปีแรก แต่ก็อย่างที่กล่าวมาเป็นเรื่องยาก เพราะสุดท้ายแพทย์ที่เป็นสตาฟก็รู้อยู่ดีว่าใครไปประเมินอะไรอย่างไร 

“ถ้าให้พูดเรื่องการดุด่า หรือดูถูก บางคนมีนิสัยแบบนี้อยู่แล้ว คือบางคนคนเกลียดทั้งโรงพยาบาลยังมีเลย แต่เอาออกไม่ได้ก็มี แต่บางคนก็อาจจะงานหนักจริงจนอาจพูดด้วยอารมณ์จนเกิดการกระทบกระทั่งบ้าง แต่จริงๆ ก็ไม่ควรอยู่ดี ซึ่งบางคนก็ได้รับการสะท้อนและปรับปรุงตนเองได้

“ปัญหาเหล่านี้สิ่งที่น่ากลัวกว่าการลาออกคือ ผลกระทบต่อสุขภาพจิต เพราะอาจ Trigger (เกิดการกระตุ้น) ทำให้เกิดฆ่าตัวตายได้ ไม่ว่าจะจากคำพูด หรือการกระทำ ซึ่งมันไม่ใช่การลาออกแต่ข้ามไปเลย อย่างการทำงานเป็นส่วนหนึ่งก็จริงที่อาจทำให้ฆ่าตัวตาย แต่ถ้าโดนด่าแรงๆ ว่า โง่เป็นควายแบบนี้ อาจเป็นจุด Trigger ให้ไปสู่จุดนั้นได้” นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ระบุ

นพ.สมิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า แม้ในปัญหาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรอื่นๆ สธ. หรือแพทยสภา จะไม่ได้ขยับต่อ แต่ส่วนตัวเสนอมานานแล้วว่าระบบนี้จะแก้ไขได้ต้องมีองค์กรที่แยกออกมา เพื่อมาทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ จัดการเรื่องการฟ้องร้อง ซึ่งอันดับแรกต้องทำให้องค์กรเกิดความเชื่อใจกับผู้ร้องเรียนว่าสามารถร้องเรียนโดยจะไม่ถูกเอาคืนจากผู้ถูกร้องเรียนได้ อีกทั้งจะช่วยจัดการในมุมกลับของปัญหานี้ด้วย คือ แพทย์อินเทิร์นทำกลับใส่แพทย์ที่เป็นสตาฟ