ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นกระแสที่ได้รับการพูดถึงต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี แต่กระแสที่ว่านี้ก็ได้โหมกระหน่ำกลับขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังการมาเยือนของ ‘สัตยา นาเดลลา’ ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกอย่าง ‘ไมโครซอฟต์’ ที่ประกาศเตรียมตั้ง ‘Data Center’ ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก พร้อมระบุถึงทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม AI

แน่นอนว่าขณะนี้ในหลายวงการต่างมีทิศทางที่กำลังมุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยี AI กันไปในแต่ละด้าน เช่นเดียวกับด้านของสุขภาพ ที่มีผู้ประกอบการมากหน้าหลายตาเข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ตามแต่สถานการณ์โอกาสและช่องว่างที่แต่ละคนมองเห็น

ไม่ต่างกับอดีต ‘เหรียญเงินคอมพิวเตอร์โอลิมปิก’ อย่าง นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช ที่ขณะนี้เองเขาสวมหมวกเป็นทั้ง ‘แพทย์’ และ ‘ผู้ประกอบการ’ จากแพลตฟอร์ม ‘PreceptorAI’ ที่กำลังศึกษาปริญญาเอกด้าน Generative AI จากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ (King’s Collage) โรงพยาบาลเซนต์โทมัส (St Thomas’ Hospital) ซึ่งเป็นศูนย์ AI ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก หลังจากจบการศึกษาปริญญาโทด้าน Medical AI ไปแล้ว

การพัฒนาแพลตฟอร์ม PreceptorAI ของเขานี้ ก็มีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยให้แพทย์ทำงานได้สะดวกขึ้น ด้วยการประเมิน ‘ความฉุกเฉิน’ ของอาการผู้ป่วย เพื่อให้ ‘ห้องฉุกเฉิน’ มีไว้สำหรับ ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ โดยแท้จริง

นพ.ปิยะฤทธิ์ เล่าย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อก้าวเข้ามาเป็นแพทย์ ซึ่งเขาวางอนาคตเอาไว้ว่า “หากได้เป็นอาจารย์ ก็จะเป็นอาจารย์แพทย์ที่เก่งที่สุด ขยันเรียนที่สุด เพื่อช่วยผู้ป่วยให้มากที่สุด”

แต่เมื่อครั้งเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเขตปริมณฑล เขากลับพบว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเพราะจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันที่เข้ามา ซึ่งอาจมากกว่าโรงเรียนแพทย์บางแห่งเสียอีก นั่นทำให้เขารู้สึกว่างานของแพทย์ยังมีอีกมาก และมองว่า ‘คอมพิวเตอร์’ น่าจะเป็นคำตอบที่ช่วยได้ หลังจากที่เขาห่างหายกับการเขียนโปรแกรมไปตั้งแต่ช่วงชั้นมัธยมปลาย

ขณะเดียวกันการได้ยินคำพูดที่ว่า “แพทย์ไม่สนใจผู้ป่วย” เพียงเพราะไม่ได้มองหน้าผู้ป่วย มองแต่หน้าจอ นั่นถือเป็นประโยคที่สะเทือนใจเขาที่สุด พร้อมอธิบายว่าเหตุผลที่ทำให้แพทย์ต้องมองจอ ก็เพราะการรักษามีความยาก และต้องแปลผลทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) อย่างน้อย 50 ตัว ขณะที่แพทย์ในโรงพยาบาลก็มีเวลาคุยกับผู้ป่วยเพียงคนละ 3-5 นาทีเท่านั้น ฉะนั้นหากเขามองหน้าผู้ป่วยรายนั้น เขาก็ไม่ได้มองหน้าจอเพื่อวิเคราะห์อาการ ซึ่งในฐานะแพทย์เองเขาก็อยากจะมองหน้าผู้ป่วยได้ เพื่อให้สมกับการที่ผู้ป่วยต้องมารอพบเกือบทั้งวัน

“ผมคิดว่าเทคโนโลยี AI ถูกนำไปช่วยในสาขาอื่นๆ แล้ว แต่ในทางการแพทย์ยังน้อยมาก เลยคิดว่าถ้าเอามาช่วยหมอ เปลี่ยนเวลาที่หมอมองจอ มามองคนไข้ให้เป็นมนุษย์มากขึ้น นอกจากจะรักษากายแล้ว ยังรักษาใจได้ เพราะคนไข้ก็จะรู้สึกว่าเราสนใจเขาจริงๆ” นพ.ปิยะฤทธิ์ ให้ภาพ

มากไปกว่านั้นเขายังให้มุมมองว่า หากเราอ่านหนังสือทั้งวันไม่หลับไม่นอน ก็อาจช่วยให้เก่งขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์หรือ AI มาพัฒนาเพื่อช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้เร็วขึ้น อาจสัก 20-50% นั่นเท่ากับว่า ‘เราจะรักษาผู้ป่วยได้เป็นหลักแสน หรือหลักล้านคน’

พร้อมกันนั้นเขายังตอกย้ำถึงแนวคิดเป้าหมายที่จะนำ AI มาช่วยทำให้ ‘ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉิน’ และนั้นคือสิ่งที่ PreceptorAI ที่เขาพัฒนาขึ้นมา จะทำงานร่วมกับแอพพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’

เขาอธิบายถึงเรื่องเซอร์ไพรส์ที่พบจากประเทศอังกฤษ คือการได้เห็นว่าห้องฉุกเฉินนั้นเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ โดยผู้ป่วยส่วนมากจะรับรู้ว่าการไปห้องฉุกเฉินนอกเวลา คืออาการต้องฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อเป็นแบบนั้น แพทย์และพยาบาลก็จะได้พักเพื่อเตรียมตัวสำหรับเคสที่ฉุกเฉินจริง หากแต่ประเทศไทยไม่ใช่แบบนั้น

“ผมเคยคิดว่าคนที่มาห้องฉุกเฉินตอนตี 2 ก็เพื่อจะไปขอใบขับขี่ เพราะคิดว่ามาตอนนี้คนน้อย เคยคิดว่าน่าจะต้องเป็นแบบนั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่” นพ.ปิยะฤทธิ์ ระบุ ก่อนเล่าต่อถึงเคสที่น่าเสียใจของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มาโรงพยาบาลตอนเช้าด้วยอาการอ่อนแรง จนเมื่อตรวจแล้วกลับพบว่าเป็นอัมพาต ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจของผู้ป่วยรายนี้คือมีอาการตั้งแต่ 2 ทุ่มของเมื่อคืน

“เมื่อถามถึงสาเหตุก็ได้รับคำตอบว่า ครั้งหนึ่งผู้ป่วยรายนี้เคยโดนต่อว่า ว่ามาห้องฉุกเฉินทำไมถ้าอาการไม่ฉุกเฉิน ทำให้นับจากนั้นผู้ป่วยรายนี้จึงคิดว่าสิ่งที่เป็นคืออาการอ่อนแรง ที่นอนพักก็หาย สุดท้ายเราต้องเสียผู้ป่วยให้กับอัมพาต เพราะความกลัว แต่ถ้าตอน 2 ทุ่มเขามาด้วยอาการสมองขาดเลือด เรามียารักษา เขาก็อาจกลับมาเป็นปกติ” นพ.ปิยะฤทธิ์ บอกเล่าเรื่องราว

นั่นจึงทำให้เขาได้พูดคุยกับทีมของแอพฯ หมอพร้อม ว่ามี AI ที่ปรับแต่งเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ ที่ผ่านมาตรฐาน และสามารถทำข้อสอบของนักศึกษาแพทย์ในเวอร์ชันที่ไม่เปิดหนังสือได้ถึง 98 Percentile แต่ด้วยความฉลาดของ AI ขณะนี้ ก็สามารถเปิดหนังสือได้แล้ว เท่ากับว่าปัจจุบันจะเทียบเท่าได้ถึง 99.8 Percentile  หรือพูดง่ายๆ คือ AI ตอบถูกเกือบทั้งหมด เมื่อเทียบกับนักศึกษาแพทย์ที่เก่งที่สุด

ดังนั้นจึงมีการนำ AI มาฝึกแยกสีตามกลุ่มอาการของผู้ป่วย (เขียว เหลือง แดง) สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจอาการฉุกเฉินของตัวเอง เมื่อพูดคุยผ่านแชทบอทแล้วพบว่าฉุกเฉินก็สามารถนำตรงนี้ไปยืนยันที่โรงพยาบาลได้ มากไปกว่านั้นยังช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ได้ และด้วยความที่เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) จึงไม่ได้จำกัดในการถาม ทำให้ผู้ป่วยสามารถป้อนข้อมูลอาการมาเรื่อยๆ ได้ เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยในกลุ่มเหลือง-แดง ได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น

“AI ไม่ได้ถามรอบเดียวจบ แต่ยังมีกระบวนการในการสอบถามอีก เช่น เมื่อส่งข้อมูลมา อีก 1 ชั่วโมงก็จะมีแจ้งเตือนกลับไปให้ใส่ข้อมูลอีก พูดง่ายๆ คือ AI จะมาช่วยหมอและพยาบาลในการคัดกรองอาการเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เราหลุดในเคสที่ไม่ควรหลุด” นพ.ปิยะฤทธิ์ อธิบาย

ระบบ PreceptorAI ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มใช้งานในโรงพยาบาลบึงกาฬเป็นที่แรก เพราะเป็นโรงพยาบาลจังหวัดที่ค่อนข้างเล็ก และยังเผชิญความท้าทายอยู่มากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ก่อนที่จะมีการขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นพ.ปิยะฤทธิ์ มองว่าการสามารถทำให้ห้องฉุกเฉินกลายเป็นห้องฉุกเฉินขึ้นมาได้จริง โดยผู้ป่วยที่เข้ามาก็มีอาการที่สมเหตุผลกับคำว่าฉุกเฉิน นับเป็นอีกหนึ่งความฝันของบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่ม ซึ่งหากทำแบบนี้ได้สำเร็จ ก็เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะหมดไฟในบุคลากรทางการแพทย์ให้น้อยลงได้

อย่างไรก็ดี AI ของเขาจะยังได้เข้าไปทำงานร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) ให้แก่ประชาชนอีกด้วย

“ก่อนมาอังกฤษ ผมดูแลคนไข้ บางทีดูแลคนไข้เบาหวาน ความดัน บางครั้งระหว่างที่คุยเราแนะนำคนไข้หมดเลยว่าต้องกินอาหารประเภทไหน แต่พอมารักษารอบต่อไปคนไข้จำไม่ได้ หรือบางครั้งก็บอกว่าหมอคนเดิมไม่ได้พูดอะไร แต่ประเด็นหมอคนเดิมคือผม ผมพูดเหมือนกันทุกคน” เขาสะท้อน

นพ.ปิยะฤทธิ์ จึงมองว่าบางครั้งการพูดคุยกับผู้ป่วยมีเนื้อหาที่ค่อนข้างมาก และมีผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายที่นำกระดาษขึ้นมาจด จึงนำไปสู่แนวคิดที่ว่า “เมื่อรักษาเสร็จ และแพทย์ให้คำแนะนำเสร็จแล้ว หลังจากนั้นให้ยิงคำแนะนำเข้าไลน์ผู้ป่วย” เพื่อให้เกิดควารอบรู้ด้านสุขภาพเฉพาะบุคคลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาจะทำร่วมกับกรมอนามัยคือ ‘แชทบอท’ ให้ผู้ป่วยที่อยากทราบว่าโรคที่ตัวเองเป็นต้องดูแลอย่างไร ตั้งแต่การบริโภคอาหารตลอดจนการออกกำลังกาย โดยเป็นการยกความรู้จากแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) มาใส่ไว้ในแชทบอท

ทั้งหมดนี้เท่ากับว่า หลังจากที่ นพ.ปิยะฤทธิ์ พัฒนาระบบ AI ขึ้นมาราว 1 ปีเพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์ไปแล้ว ในอีกขาหนึ่งเขาก็กำลังจะต่อยอดด้วยการให้ AI พาผู้ป่วยไปหาหมอ และทำให้มีความรอบรู้ทางสุขภาพมากขึ้น

โดยเขาทิ้งท้ายว่าถึงความคาดหวังที่จะนำ AI มาทำให้ชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้น ภาระงานลดลง ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้บุคลากรอยากอยู่ในระบบมากขึ้น และเมื่ออยากอยู่มากขึ้น การลาออกก็จะลดลง แล้วสุดท้ายผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาดีขึ้นเช่นกัน