ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ไม่ค้านหาก สธ. จะต่ออายุราชการหมอ 3 สาขา แต่ไม่เชื่อแก้ปัญหาขาดแคลนระยะยาว หวั่นแพทย์ผ่าตัดระบบประสาทจะไหวหรือไม่ แม้สมองดี-แต่ความแม่นยำอาจลดลง แถมต้องอยู่เวรนอกเวลา แนะหาก สธ. เดินหน้า ต้องตีกรอบการทำงานหมอสูงวัยให้เหมาะสม  


จากกรณีที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผู้ตรวจราชการ สธ. และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่  1 – 12 เรื่องการดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง นายแพทย์ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ในสาขาวุฒิบัตรความเชี่ยวชาญ 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว สาขาประสาทศัลยศาสตร์ และสาขาความขาดแคลนตามบริบทของพื้นที่ ที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อได้ เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ

ล่าสุด นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า เห็นด้วยและไม่คัดค้านหากจะต่ออายุราชการแพทย์ที่เกษียณไปแล้วเพื่อให้ทำงานต่อได้ เพราะถือเป็นอีกทางเลือกของแพทย์ที่เกษียณแล้ว แต่ยังต้องการทำงานต่อได้มีโอกาสในการดูแลและรักษาประชาชน ซึ่งถือเป็นการช่วยระบบบริการสุขภาพด้วย ทว่า สธ. ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงขอบเขตการทำงานของแพทย์กลุ่มนี้ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ในโรงพยาบาล และต้องคำนึงถึงสมรรถนะทางร่างกายของแพทย์ที่ได้รับการต่ออายุราชการด้วย 

เนื่องจากถ้าหากแพทย์เกษียณที่เลือกต่ออายุราชการ จะต้องปฏิบัติงานต่อช่วงนอกเวลาราชการ (อยู่เวร) ด้วย ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ เพราะการอยู่เวรอาจมีผลกระทบต่อการพักผ่อน รวมไปถึงมีผลกระทบต่อชีวิตครอบครัวแน่นอน เพราะต้องมีเวลาในการอยู่เวรมากขึ้น ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย อายุ รวมถึงชีวิตวัยเกษียณที่เหมาะสม 

“แพทย์ที่ได้รับการต่ออายุราชการ จะต้องมั่นใจว่ามีสมรรถนะเพียงพอที่จะอยู่เวรนอกเวลาราชการเหมือนกับแพทย์คนอื่นๆ ด้วย หากทำไม่ได้ ก็จะกลายเป็นภาระการทำงานของแพทย์ที่ต้องรับภาระอยู่เวรแทนมากขึ้น” นพ.ณัฐ กล่าว

สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวต่อไปว่า อีกทั้งแพทยสภาก็ได้มีการออกประกาศกรอบเวลาทำงานของแพทย์ภาครัฐ ซึ่งระบุว่า แพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ควรได้รับสิทธิงดอยู่เวรนอกเวลาราชการ ฉะนั้นหากให้แพทย์ที่เกษียณอายุราชการมาปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรนอกเวลาด้วย ก็อาจไม่ตรงประกาศของแพทยสภา หน่วยงานที่พิจารณากลั่นกรองแพทย์เกษียณให้สามารถรับราชการต่อได้จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงด้วยว่า สมรรถภาพแพทย์เกษียณที่แท้จริง อาจไม่เท่ากับแพทย์ที่ทำงานอยู่ในระบบในปัจจุบัน หรือแพทย์เกษียณ 1 คน ประสิทธิภาพอาจไม่เท่ากับแพทย์ที่อยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสมต่อภาระงาน 1 คน

มากไปกว่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องความเกรงใจที่จะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะแพทย์ที่สูงอายุส่วนใหญ่เป็นระดับอาจารย์แพทย์ หรือแพทย์รุ่นใหญ่ และอยู่ในระดับบริหารกันเกือบทั้งหมด หากจะเอามาช่วยในเรื่องการดูแลผู้ป่วย หรือรักษาผ่าตัดให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะแพทย์สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ที่ผ่าตัดระบบประสาท ผ่าตัดสมอง ที่เมื่ออยู่เวรปฏิบัติงาน หรือมีงานต้องผ่าตัดเร่งด่วน บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่จะต้องไปตาม ก็อาจไม่กล้า หรือมีความเกรงใจ รวมไปถึงหากต้องมาผ่าตัดสมองที่เป็นงานหนัก แพทย์ที่สูงวัยจะมีสมรรถภาพพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับแพทย์ที่มีกำลังมากกว่า 

“แพทย์ที่สูงอายุและเกษียณไปแล้ว ด้วยประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญที่สะสมมาตลอดชีวิตก็ยังเป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้ป่วย รวมถึงช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันเองได้ แต่อีกด้านร่างกายก็เสื่อมถอยตามธรรมชาติ แพทย์บางคนอาจมองได้ไม่ชัดเหมือนเดิม ก็อาจส่งผลต่อการทำหัตถการ หรือการผ่าตัดที่ต้องทำเร่งด่วน  

"ดังนั้น หาก สธ. จะต่ออายุราชการ ก็ควรคำนึงถึงกรอบการทำงานที่ชัดเจน อาจจะให้แพทย์เกษียณมาเป็นกำลังเสริมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นหลักอยู่แล้ว รวมถึงสถานพยาบาล โรงยาบาลที่มีการต่ออายุราชการแพทย์เกษียณ ก็ต้องวางระบบการทำงานภายในใหม่เพื่อให้เหมาะสมเช่นกัน"  สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ระบุ

อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เพราะยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และต้นเหตุที่ต้องจัดการเพื่อให้แพทย์อยู่ในระบบ ยังเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายจะต้องตามหาและช่วยกันแก้ไข เพื่อป้องกันการขาดแคลนแพทย์ในระยะยาว 

"เรา (สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน) เคยคุยกันเล่นๆ หากจะให้มีแพทย์อยู่ในระบบ ไม่ขาดแคลน ก็คงต้องให้แพทย์เกษียณทำงานต่อ และทำงานหนักต่อไป แต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นแล้วจริงๆ" นพ.ณัฐ กล่าวตอนท้าย