ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานหนุนเพิ่มความก้าวหน้าในทุกสายงาน แนะเพิ่มรายได้ให้บุคลากรที่อาจไม่ได้เลื่อนขั้น-เพิ่มระบบธรรมาภิบาล รวมถึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากผู้ปฏิบัติงานและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการประชุมตัดสินใจข้อเสนอหรือนโยบายของระดับบริหาร


นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) ได้เปิดเผยกับทาง “The coverage” ว่า แนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) มีข้อสรุปร่วมถึงทางออกเรื่องภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขนั้นมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากเรื่องหลักจะเป็นเรื่องของการกำหนดกรอบอัตราตำแหน่งขั้นสูงของแต่ละวิชาชีพ และความก้าวหน้า ซึ่งมักมีเสียงสะท้อนเข้ามาที่สหภาพฯ เสมอว่าความก้าวหน้าของแต่ละวิชาชีพที่ไม่เท่ากัน 

ทั้งนี้ การจะทำให้ทุกวิชาชีพมีความก้าวหน้าได้มากขึ้นตามศักยภาพผู้ปฏิบัติงานถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องค่าตอบแทนที่ตรงไปตรงมา รวมถึงสิ่งที่ต้องชวนคิดต่อก็คือ อัตราค่าตอบแทนของฝ่ายที่ไม่ได้เลื่อนขั้นตำแหน่งหน้าที่การงาน พวกเขาเหล่านั้นยังจะมีเงินเดือนขั้นพื้นฐานเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ต่อไปหรือไม่

ส่วนตัวคิดว่าบุคลากรในระบบสาธารณสุขของภาครัฐควรจะมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าจะขึ้นเงินเดือนเพียงแค่คนที่ได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ เพราะค่าจ้างของหลายๆ คนก็ค่อนข้างต่ำ จากที่เราเคยเห็นกันไม่ว่าจะเป็นพยาบาล นักเทคนิครังสี ฯลฯ บุคลากรเหล่านี้ก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนที่ดีเหมาะสมกับช่วงเวลางานเช่นกัน โดยไม่ต้องจำกัดว่าต้องมาจัดการเลื่อนขั้นหรือเพิ่มกรอบกำลังขั้นสูงเพียงอย่างเดียวนพ.ณัฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าสิ่งที่ สธ. และ กพ. เสนอมาอาจจะมีส่วนช่วยเล็กน้อยในการลดภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และช่วยให้คนอยู่ในระบบได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังคงมีหลายสิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อเพื่อการแก้ไขอย่างยั่งยืน เช่น ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่อยากให้ สธ. ทำเพิ่มขึ้นอย่างจริงจังคือ เรื่องของธรรมาภิบาล หรือการที่แพทย์บางคนในระบบไม่ทำงานเต็มเวลาแล้วก็ทิ้งงานไว้ให้แพทย์รุ่นน้องหรือคนอื่นทำ ไปจนถึงเกิดการดุด่าข่มเหงรังแกในระบบ

“การธรรมาภิบาลนี้อาจจะมาในรูปแบบของการมีระบบ Feedback ที่ดีที่ทำให้ตัวผู้ส่งฟีดแบ็กไม่โดนตามกลับไปได้และถูกเรียกเข้าห้องดำ หรือมีแนวทางการลงโทษ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง” สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ระบุ

นพ.ณัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหา 2 เรื่องที่กล่าวมายังไม่เห็น สธ. หรืออาจารย์ระดับบริหารพูดถึงอย่างจริงจังเลยสักครั้ง จนครั้งนี้จึงคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน เพราะต้องยอมรับว่าในฐานะแพทย์ไม่สามารถเพิกเฉยกับปัญหาเหล่านี้ต่อไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญทำให้แพทย์หมดกำลังใจในการทำงาน เพราะสิ่งพื้นฐานที่สภาพแวดล้อมการทำงานควรมีคือสิ่งที่ทำให้ผู้ทำงานสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ

ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดมีแพทย์บางคนเอาเวลาที่ควรตรวจผู้ป่วยในโรงพยาบาลไปเปิดคลินิก แล้วปล่อยให้ผู้ป่วยที่เหลือตรวจกับแพทย์รุ่นน้อง แพทย์รุ่นน้องก็คิดว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม หรือแม้กระทั่งเวลาที่ โทร.ไปปรึกษาแพทย์รุ่นพี่ หรือปรึกษากันเองระหว่างแผนก เช่น การที่พยาบาล โทร.ปรึกษาแพทย์แล้วโดนด่ากลับมาว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง 

มีหลายคนบอกเหมือนกันว่างานหนักน่ะผมทนได้ ถ้าวัฒนธรรมการทำงานมันดี แต่ถ้าวัฒนธรรมการทำงานไม่ดีถึงงานจะเบาก็จะไม่อยู่ นพ.ณัฐ กล่าว

มากไปกว่านั้น อยากให้แพทย์ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเข้าไปมีพูดคุยในที่ประชุม เพื่อแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะถึงสถานการณ์ที่หน้างานด่านหน้าจริงๆ ขึ้นไปสู่ระดับบริหารให้มากขึ้น เพราะขณะนี้ยังเป็นการบริหารแบบบนลงล่าง ซึ่งบางครั้งก็จะมีการจัดประชุม แต่ว่ายังไม่มีระบบที่จะทำให้ตัวแทนจากคนทำงานหรือประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและร่วมกำหนดทิศทางของระบบสาธารณสุข 

นพ.ณัฐ กล่าวต่อไปว่า หวังว่าในอนาคตจะเกิดการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชนว่าต้องการอะไร ตลอดจนมีการสะท้อนถึงข้อเสนอของกันและกัน สำหรับนำไปคุยกับผู้บริหาร ซึ่งสหภาพก็ยินดีที่จะเข้าไปร่วมช่วยในการให้ข้อมูลและออกความคิดเห็นในการออกแผน หรือนโยบาย 

นพ.ณัฐ ทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาที่เป็นระบบและยั่งยืนคือ การที่หลายๆ ฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะการออกกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บางอย่างอาจจะสามารถแก้ไขตรงนี้ได้ แต่ว่าในระยะยาวถ้ายังทำงานภายใต้ระบบและข้อจำกัดของราชการแบบนี้ต่อไปจะมีความยั่งยืนหรือไม่ หรือจะกลายเป็นว่าปัญหานี้มาเป็นคลื่นแล้วก็หายไป